งานปัจฉิมนิเทศ ที่วิทยาลัยเทคนิค เชียงใหม่ (1)
ปัจฉิมนิเทศ ที่วิทยาลัยเทคนิค เชียงใหม่
พูดให้กับนักศึกษาระดับ ปวช. 3 และ ปวส.2
10 กุมภาพันธ์ 2554
สวัสดีอาจารย์และน้องนักศึกษาทุกคน
วันนี้ผมมาพูดในหัวข้อ
“ทางชีวิตที่เลือกได้
การศึกษา การทำงาน และความสำเร็จ”
ผมไม่แน่ใจว่าน้องๆที่นั่งให้ห้องนี้ทำไมคุณถึงเลือกเรียนสถาปัตย์
ส่วนตัวผมเองเมื่อตอนเรียนจบ ม.3
ผมมีความรู้สึกลึกๆในใจว่าอยากเรียนต่อด้านศิลปะ
แต่เมื่อเดินเข้าไปบอกกับพ่อว่าอยากเรียนศิลปะ
พ่อผมบอกว่า “เรียนจบศิลปะออกมาแล้วจะทำอะไรกิน”
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ววิชาชีพด้านศิลปะยังไม่เป็นที่ยอมรับนับถือกันมากนัก
เมื่อพ่อไม่ให้เรียน ผมจึงต้องมาดูว่า
แล้ววิชาอะไรที่ใกล้เคียงกับศิลปะบ้าง
มันก็มาจบที่ “สถาปัตย์”
ผมสอบได้และเรียนจนจบในระดับ ปวช. และ ปวส.
ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ
ระหว่างที่เรียนก็ค้นหาตัวเองไปด้วย
ว่าเราอยากหรือชอบอะไรในวิชาชีพสถาปัตย์
ตอนใกล้จบ ปวส.2 เริ่มรู้แล้วว่าอยากเป็นครูมากกว่าสถาปนิก
เลยเลือกที่จะศึกษาต่อที่ครุศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ใช้เวลาเรียน 2 ปีจนระดับปริญญาตรี
วางเป้าหมายในชีวิตไว้เสร็จสรรพ
ตั้งใจจะทำงานสองปีในตำแหน่งสถาปนิก
แล้วค่อยไปสมัครเป็นอาจารย์ที่เทคโนฯ
สอนสักสองปี..ค่อยไปเรียนต่อปริญญาโท
จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์สอนไปจนตลอดชีวิต
นี่คือความฝันนะครับ
หลังจากเรียนจบปริญญาตรีผมกลับมาเชียงใหม่
ไปสมัครงานกับสำนักงานสถาปนิก
ซึ่งสมัยเป็นนักศึกษาฝึกงานผมเคยไปฝึกงานที่นี่
แล้วเจ้านายบอกว่า
เมื่อไหร่ที่เรียนจบปริญญาตรีให้กลับมาที่นี่ได้เลย
เจ้านายจะรับผมทำงานทันที
เพราะในช่วงที่เป็นนักศึกษาฝึกงาน
ผมไปฝึกงานที่สำนักงานจนเจ้านายพอใจในฝีมือและความขยัน
กลับมาทำงานเป็นสถาปนิกได้เดือนเดียว
พ่อผมเรียกเข้าไปคุยแล้วบอกว่า
ให้ไปลาออกจากสำนักงานออกแบบ
มาช่วยงานที่ร้าน...
พ่อผมกำลังจะเปิดร้านขายเครื่องหนัง
แล้วตอนนั้นไม่มีใครช่วยงานเลย
น้องสองคนยังเรียนไม่จบ
ส่วนพี่ชายมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
ผมเรียนสถาปัตย์มา 7 ปี
เป็นสถาปนิกแค่เดือนเดียว
แล้วต้องมาทำงานในสิ่งที่เราไม่เคยฝัน ไม่เคยอยากจะทำเลย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมก็คือ
ผมเป็นทุกข์กับงานใหม่ที่ผมต้องทำอยู่ 4-5 ปี
บางคนอาจคิดว่าการทำงานกับครอบครัวเป็นงานสบาย
แต่ไม่ใช่เลย...ผมทำงานหนักมาก
มันเป็นการบุกเบิกร้านใหม่ท่ามกลางร้านเก่าที่เปิดมาอยู่ก่อนหน้า
งานที่ผมไม่คุ้นเคย ไม่เคยมีความรู้อะไรใดใดกับมันเลย
สองปีแรกของการทำงานผมไม่เคยได้หยุดงาน
สองวันที่ไม่ได้ไปทำงานนั่นคือ ป่วยจนลุกไม่ไหว
ทำไมผมถึงต้องเล่าประวัติตัวเองให้น้องๆฟัง
เพราะผมเชื่อเหลือเกินว่าในห้องนี้
จะมีไม่เกินครึ่งหนึ่งที่จะได้ทำงานตามที่ตัวเองฝัน
ที่เหลือคุณจะต้องออกไปทำในงานที่คุณไม่อยากทำ
แล้วมันก็จะทำให้คุณรู้สึกเบื่อ เซ็ง
แล้วถามตัวเองว่าทำไมมันถึงต้องเป็นอย่างนี้ ?
ทำไมชีวิตต้องเป็นแบบนี้ ?
ทำไมต้องทำงานที่ไม่อยากทำ ?
ทำไมต้องเจองานที่หนัก เหนื่อย เงินเดือนน้อย ?
ในขณะที่เพื่อนบางคนเดินนำไปลิ่วลิ่ว
บางคนจบมาก็ไปเรียนต่อเมืองนอก
บางคนทำงานได้เงินเดือนสองสามหมื่น
กลับมาที่การทำงานของผมในช่วง 4-5 ปีแรก
ที่ผมบอกว่าตัวเองทุกข์มาก
จนวันหนึ่ง...ผมเกิดคิดขึ้นมาได้ว่า
ทำไมเราถึงไม่มีความสุขในการทำงาน
สิ่งที่ทำให้ผมไม่มีความสุขก็คือ “วิธีคิด”นั่นเอง
ถึงวันหนึ่งคุณจะค้นพบได้เองว่าอะไรที่ทำให้คุณเบื่อ
อะไรคือทุกข์ที่สุด
แล้วจากทุกข์นั้นต้องทำยังไงมันถึงจะกลับมาเป็นความสุขได้
ก่อนขึ้นพูดผมนั่งคุยกับอาจารย์ของน้องๆ
อาจารย์บอกว่าในห้องนี้ไม่ได้เรียนจบทุกคน
มีหลายคนที่ต้องเรียนซ้ำชั้นและยังไม่จบในปีการศึกษานี้
วันนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราจะจบหรือไม่จบการศึกษา
เพราะเมื่อคุณออกไปข้างนอก
คุณต้องเริ่มต้นใหม่ที่ศูนย์เหมือนกันทุกคน
ทุกคนต้องไปทำงาน ต้องไปเจอปัญหาใหม่ๆ
คุณจะเจอปัญหาเยอะแยะมากมายที่รออยู่
แล้วที่ผ่านมา “การศึกษา” มันให้อะไรคุณบ้าง ?
ไม่รู้คุณมีคำตอบอะไรหรือเปล่า
ว่าที่ผ่านมา 3 ปีในระดับ ปวช.
และ 2 ปีในระดับ ปวส.
คุณได้อะไรจากการศึกษาบ้าง ?
มันไม่ใช่แค่เรื่องของการออกแบบบ้าน
ออกแบบตึกแถวหรือคอนโด
ถ้าเราคิดแค่ว่าตื่นเช้ามาเรียนเขียนแบบ เรียนวาดรูป
เรียนพื้นฐานการออกแบบ ฯลฯ
นั่นเป็นแค่ “การรู้” ยังไม่ใช่ “การเรียนรู้”
“การศึกษาที่แท้จริง”
คือ การจำลองโลกข้างนอกมาให้คุณลองแก้โจทย์ดู
เพราะฉะนั้นไม่ว่าวันนี้คุณจะเรียนสถาปัตย์ บัญชี คหกรรม
หรือแม้แต่เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ
ทุกสาขาวิชาจะต้องสรุปให้ได้ว่า
วิชาเหล่านั้นต้องสอนให้คุณรู้จักที่จะ “แก้ปัญหา”
ถ้าคุณไม่รู้ถึงหลักในการศึกษานี้
ต่อให้คุณเรียนจบปริญญาเอก
คุณก็จะยังทุกข์กับชีวิต
เวลาเกิดปัญหาในชีวิต คุณจะหงุดหงิดที่ทุกอย่างไม่เป็นไปดั่งใจ
ที่สุดแล้วคุณจะแก้ไขปัญหาชีวิตอะไรไม่ได้เลย.....
การศึกษาจึงเป็นการจำลองโจทย์มาให้คุณแก้ไข
โดยเริ่มต้นจากโจทย์ง่ายๆไปหาโจทย์ยากๆ
เพื่อให้เราเกิดความคุ้นเคยและเคยชินในการรับมือกับปัญหา
ให้คุณเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบ
ถ้าวิธีการคุณถูกต้อง
ก็เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่า คำตอบที่ได้มาย่อมถูกต้องเช่นกัน
ชีวิตคุณก็เช่นกัน
ถ้าวิธีคิดคุณผิด
คำตอบที่ได้รับมันย่อมผิดตามไปด้วย
วันนี้คุณจบการศึกษา
แต่ชีวิตจริงๆมันยังไม่จบ
ลองลบระดับการศึกษาออกไป
ไม่มีปวช. ปวส. ปริญญาตรี โท หรือเอก
มองให้เหลือแต่วิธีการในการแก้ไขปัญหา
หรือกระบวนการในการค้นหาคำตอบ
แล้วชีวิตจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะ
ชีวิตคุณจะไม่จบแค่การออกแบบบ้าน
รอรับคำสั่งจากสถาปนิกแล้วเขียนแบบ ส่งงาน รับเงินเดือน
กลับบ้าน เย็นขับรถออกไปกินเหล้า กลับมาหลับ
เข้าตื่นมาขับรถไปเขียนแบบ....
ชีวิตมันจะซ้ำๆซากๆไปตามรูปแบบที่คุณสร้างขึ้นในความคิดของตัวคุณเอง
แต่ถ้าคุณเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมอง
ชีวิตจะมีอะไรที่น่าตื่นเต้น
และท้าทายมากกว่าที่เราเป็นอยู่
ถามว่าถ้ามีใครสักคนในวันนี้ที่เรียนไม่จบ
แล้วคุณโดนรีไทร์ออกจากระบบ
“คุณแพ้รึยัง ?”
แพ้ไม่แพ้มันอยู่ที่ใจคุณ
จบหรือไม่จบอยู่ที่เรา
แต่ถ้าคุณยอมแพ้ตั้งแต่วันนี้แล้วว่าคุณเรียนไม่จบ
ชีวิตคุณจบ คุณจะไปได้ไม่ไกลจากนี้
แต่ถ้าคุณไม่ยอมแพ้
ถึงแม้คุณจะกลับมาเรียนต่อในระบบไม่ได้
แต่ในชีวิตจริงคุณจะไม่แพ้
ต่อให้คุณต้องไปเป็นพ่อค้าขายข้าวมันไก่
คุณก็จะขายข้าวมันไก่อย่างมีหลักการ
รู้ว่าหุงข้าวยังไงให้มันหอม
สับไก่ยังไงให้อร่อย ทำอย่างไรลูกค้าถึงจะพอใจ
ผมอยากให้น้องๆลองมองการศึกษาในแง่มุมใหม่
อย่าคิดเพียงแค่เรียนให้จบ มีวุฒิแล้วไปทำงาน
วันที่คุณไปทำงานก็เหมือนกัน
ผมอยากให้คุณลองตั้งโจทย์ให้ตัวเองใหม่
อย่าคิดแค่ว่าตื่นเช้าไปทำงาน เขียนแบบ รอรับเงินเดือน
แล้วก็กลับบ้าน
มีคำสอนหนึ่งที่ผมชอบมาก
แล้วได้ลองนำมาใช้กับตัวเองด้วย
นั่นคือ ถ้าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองกลายเป็นคนกวาดขยะ
ให้ตั้งใจกวาดที่สุด...มีความสามารถอะไรงัดออกมาใช้ให้หมด
ชนิดที่พระเจ้าเมื่อมองลงมาแล้วต้องพูดว่า
“ไอ้นี่คือคนกวาดขยะที่ดีที่สุดตั้งแต่โลกเคยมีมา”
เมื่อไปทำงานลองใช้วิธีคิดแบบนี้ไปทำงาน
ไปเรียนรู้งาน ขยันทำงาน ทุ่มเทสุดตัว
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ตัวงานมันจะผลักดันคุณให้ก้าวไปข้างหน้าทีละขั้นๆ
แต่ถ้าคุณทำงานแบบซังกะตาย เจ้านายสั่งถึงทำ
อันนี้เดาไม่ยากเลยว่าจุดจบของชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร ?
ไม่มีใครที่เก่งไปตลอด หรือไม่มีใครที่ห่วยตลอด
ชีวิตมันมีทั้งวันที่ดีและวันที่แย่ มีวันที่สุขและวันที่ทุกข์
สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน จึงไม่ใช่เรื่องงาน
แต่เป็นเรื่องของ “คน”
คุณทำงานเขียนแบบ เขียนผิดก็แก้ไขใหม่จนมันถูกต้องได้
แต่การทำงานกับคนเป็นเรื่องยากกว่า
เพราะเราไม่รู้เลยว่าวินาทีนี้เขาคิดอย่างไรกับเรา
และเราคิดอย่างไรกับเขา ถ้าคิดไม่ตรงกันก็ยากที่จะทำงานร่วมกัน
มีรายละเอียดมากมายในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ
อย่างแรกที่ควรทำคือ แก้โจทย์เรื่อง “คน” ให้ได้ก่อน
ปัญหาเรื่องงานนั้นแก้ได้ง่ายกว่า
ถ้าวันนี้เราทำงานแล้วต้องทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานตลอด
เสร็จแล้วก็ย้ายที่ทำงานเพื่อหนีปัญหา
คุณจะต้องย้ายที่ทำงานไปตลอดชีวิต
ผมเคยไปทำงานในสำนักงานที่ผมเล่าให้ฟัง
มีรุ่นพี่คนหนึ่งทำงานอยู่ที่นี่เป็นสิบปี
วิธีทำงานของพี่เขาก็คือ อู้งานให้ได้มากที่สุด
ทำงานให้เสร็จช้าที่สุด พักเที่ยงกินข้าวเสร็จ
เข้ามาในสำนักงานแล้วจับกลุ่มนั่งเล่นไพ่
เย็นเลิกงานก็ชวนน้องๆไปดื่มเหล้าทุกวัน
ในขณะที่ผมเข้าไปเมื่อตอนที่เป็นนักศึกษาฝึกงาน
ผมทำงานอย่างตั้งใจ ทำงานทุกวินาที
พักเที่ยงทานข้าว 20 นาที
จากนั้นเข้ามาสำนักงานเปิดไฟนั่งทำงานต่อ...
เพราะตอนนั้นผมรู้ตัวว่ามีเวลาฝึกงานน้อย
เลยอยากเรียนรู้งานให้มากที่สุด
ผมตั้งใจทำงานมากจนเจ้านายมองเห็นความแตกต่าง
โจทย์แบบนี้น้องๆจะต้องเจอ...
แล้วคุณต้องเลือกว่าจะเป็นแบบรุ่นพี่คนนี้หรือเป็นเหมือนผม
สิบปีผ่านไป
ผมกลับไปสำนักงานแห่งนี้...
รุ่นพี่คนนี้ยังคงเป็นรุ่นพี่คนเดิม
การงานไม่เคยก้าวหน้าไปไหน ชีวิตก็ย่ำอยู่ที่เดิม
“ทัศนคติที่เรามีต่อตัวเราเอง” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
วันนี้คุณจะเรียนจบหรือไม่จบจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย
แต่เวลาเข้าสู่สนามจริงของชีวิต
ต้องตั้งใจนะครับ
เพราะมันไม่มีโอกาสให้เราแก้ตัวได้ตลอด
เพื่อนร่วมรุ่น 70 คนของผม
ต่างมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป
บางคนรวย บางคนจน
บางคนลำบาก บางคนมีความสุข
คนที่ประสบความสำเร็จทุกคน
จะเริ่มต้นจาก “วิธีคิด” ที่เขามีอยู่ในตัวเองก่อน
คนที่คิดว่าตัวเองแพ้
จะแพ้อยู่ตลอดเวลา
สุดท้ายก็เฝ้าแต่ฟูมฟายและโทษสิ่งอื่น
เช่น โลกไม่ยุติธรรม ไม่มีดวง ไม่มีโชค
เพื่อนไม่ช่วย ฯลฯ
แต่คนที่ไม่ยอมแพ้
เมื่อเจอปัญหา เขาจะไม่กลัว
เขาจะพุ่งเข้าชนปัญหาด้วยปัญญา
เจอโจทย์ยากๆของชีวิตแล้วไม่ยอมแพ้
เมื่อผ่านปัญหาไปได้ เราจะเก่งขึ้น เติบโตขึ้น
“ชีวิตคือการวิ่งมาราธอน
ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร”
บางคนบอกว่าเรียนจบไปสองปีแล้วมาเจอกัน
คนไหนรวยกว่าคนนั้นประสบความสำเร็จ
ผมพิสูจน์ว่ามันไม่จริงเสมอไป
ปีที่ผมเรียนจบ
ผมกลับมาทำงานเริ่มต้นเงินเดือนที่ 8 พันบาท
เพื่อนร่วมรุ่นของผมเริ่มต้นเงินเดือนที่หมื่นกว่าสองหมื่นกันหมด
ในขณะที่รุ่นน้องของผมคนหนึ่งใช้เวลาปีเดียว
เขามาพร้อมบีเอ็มซีรี่ย์เจ็ด แต่งตัวแบรนด์เนม
พกเงินมาเต็มกระเป๋า
ทุกคนต่างพูดว่าคนๆนี้ประสบความสำเร็จ
ถ้าเราวัดกันจากสิ่งที่ตามองเห็น
รุ่นน้องของผมคนนี้ต้องนับว่าประสบความสำเร็จ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหนึ่งปี
รุ่นน้องของผมก็ถูกจับเพราะเขาขายยาบ้า....
วันนี้น้องๆเรียนจบ
ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ?
ใช่ครับ ... มันเป็นการประสบความสำเร็จเล็กเล็ก
ถ้าคุณเรียนจบทำงานไปสัก 5 ปี
แล้วมีเงินเก็บ 5 ล้าน มันก็เป็นความสำเร็จ...เล็กเล็ก
ชีวิตมันยากที่จะนิยามการประสบความสำเร็จที่แท้จริง
ผมจึงชอบคำที่บอกว่า
“จงเร่าร้อนในการทำงาน
แต่อย่าเร่งร้อนในการประสบความสำเร็จ”
(* เป็นคำพูดของทิวา สาระจูฑะ – บรรณาธิการนิตยสารสีสัน)
ถามตัวเองดูนะครับว่าวันนี้น้องๆเรียนจบออกไป
ทำงานแล้วต้องประสบความสำเร็จเลยมั้ย ?
จำเป็นต้องมีชื่อเสียงเลยหรือเปล่า
ค่อยๆเดินดีกว่า เดินช้าช้า
ไม่ต้องวิ่งเร็วๆ แซงคนอื่น
แล้วไปล้มแรงๆข้างหน้า
คิดให้ดี อย่าดีแต่คิด
พูดให้ดี อย่าดีแต่พูด
ฟังให้ดี อย่าดีแต่ฟัง
ทำให้ดี อย่าดีแต่ทำ
การใช้ชีวิตจริงๆมันยาก
ยิ่งเราเติบโตขึ้น
ปัญหาที่เราต้องรับมือก็จะซับซ้อนมากขึ้น
คำถามคือ..คุณรับมือกับมันได้หรือเปล่า ?
คิดดี พูดดี ทำดี
แล้วจงเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
ด้วยการเปลี่ยนความคิดที่เรามีกับตัวเราเอง
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่