ก๋าราณีตอบคำถามน้องทรายแก้ว
พี่ก๋าอธิบาย ประโยค ทรัพย์ใดเสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี
ให้หน่อยสิคะ หนูไม่เข้าใจ
กาลครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล
มีเทวดามาเข้าเฝ้าพุทธองค์ประสงค์จะสนทนาธรรม
แล้วกล่าวแสดงความคิดเห็นใน เรื่องที่สุดของความรักว่า
"...ความรักใดเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี
ทรัพย์ใดเสมอด้วยโคไม่มี
แสงสว่างใดเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี
สระทั้งหลายมีทะเลเป็นยอด?
พุทธองค์ทรงแก้ให้โดยตรัสว่า
“ความรักใดเสมอด้วยความรักตนไม่มี
ทรัพย์ใดเสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี
แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี
ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม”
คำถามโดย : saaikaew (Green_Marble )
วันที่ : 1 กรกฎาคม 2554
เวลา : 13:33:19 น.
พี่ก๋าขอตีความตามความเข้าใจของตนเองนะครับน้องทรายแก้ว
มิได้อ้างอิงหลักวิชาการหรืออรรถาธิบายจากพระไตรปิฏกแต่อย่างใด
ประโยคแรกของเทวดาที่ว่า
"...ความรักใดเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี
ทรัพย์ใดเสมอด้วยโคไม่มี
แสงสว่างใดเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี
สระทั้งหลายมีทะเลเป็นยอด?”
นี่เป็นการสรุปตรรกะที่ “ผล” หรือ “ปลายเหตุ”
ความรักที่พ่อแม่มีต่อบุตรยังเป็นรักที่มีเงื่อนไข
และตั้งอยู่บนความคาดหวัง
หากลูกเป็นคนดี เรียนเก่ง น่ารัก เชื่อฟัง
พ่อแม่จึงจะรัก
โค กระบือในยุคกสิกรรมย่อมมีความสำคัญมาก
แต่หากมีแต่กระบือหรือโค แต่ไม่มีข้าวเปลือก
เราจะปลูกอะไรให้งอกงามขึ้นมาได้ ?
แสงสว่างใดเสมอด้วยแสงอาทิตย์
และสระทั้งหลายมีน้ำทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เป็นเพียงการยกย่องสิ่งที่ตนมองเห็น
แต่ในสิ่งที่มองเห็นยังมีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า
นั่นคือสิ่งที่สร้างดวงอาทิตย์และน้ำทะเลขึ้นมา
ในการอรรถาธิบายธรรมะนั้น
เราจำต้องจำแนกสิ่งต่างๆออกเป็นสองอย่าง
นั่นคือ “ผู้สร้าง” กับ “สิ่งที่ถูกสร้าง”
น้ำทะเล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ คน สัตว์ สิ่งของ
เป็นสิ่งที่ “ถูกสร้าง” ขึ้น
สร้างขึ้นจาก “ผู้สร้าง”
แล้วเราก็เรียกผู้สร้างนี้ด้วยนามอันหลากหลาย
เช่น พระเจ้า ธรรมชาติ พระผู้สร้าง เต๋า
อนุตรธรรม โลกกุตระธรรม ฯลฯ
พุทธพจน์ของพระองค์ในประโยคนี้
“ความรักใดเสมอด้วยความรักตนไม่มี
ทรัพย์ใดเสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี
แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี
ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม”
จึงชี้ตรงไปยัง “สภาวธรรม” ของ “พระผู้สร้าง”
อธิบายเปรียบเทียบถึง “เหตุ” หรือ “ต้นธาร” ของสิ่งต่างๆ
ความรักตนในที่นี่
จึงมิได้หมายถึงความรักในเชิงหนุ่มสาว
หรือความลุ่มหลงที่มีกับตัวเอง
หากแต่เป็นการเข้าถึงสภาวธรรมแห่งรัก
ที่รู้แจ้งว่าทั้งคน สัตว์ สิ่งของ
ไม่ว่าเขาหรือเรา ดำหรือขาว
พระหรือยาจก ทหารหรือครู ชาวนาหรือข้าราชการ
ล้วนไม่มีความแตกต่างใดใด...
ไม่มีความแตกต่างใดเลยในทางสภาวธรรม
เราจึงสามารถรักสิ่งที่เราเกลียดได้ เราจึงเข้าใจว่าทุกคน
ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
ความรักเช่นนี้ต่างหากที่เป็นต้นธารแห่งชีวิตที่แท้จริง
ไม่ใช่ความรักที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข เหมือน พ่อรักลูก เพื่อนรักเพื่อน ภรรยารักสามี ฯลฯ
ทรัพย์ใดเสมอข้าวเปลือกเป็นไม่มี
นั่นคือการเปรียบเทียบว่า...ต่อให้มีที่นา มีควาย มีน้ำ
แต่ถ้าไม่มีข้าวเปลือก เราจะเพาะปลูกอะไรขึ้น....
ข้าวเปลือกในที่นี่จึงหมายถึง “จิต” หรือ “ความคิด” ในตัวเรา
จิตเป็นตัวสร้าง “ตัวตน” ขึ้นมา
เราเป็นนายมา นายมี นางศรี ยายคำได้
ก็เพราะจิตสร้างความคิดขึ้นมาประกอบกับร่างกายของเรา
และแสงแห่งปัญญาในที่นี้
จึงเปรียบเทียบได้กับแสงสว่างอันยิ่งใหญ่
ที่ยิ่งใหญ่กว่าแสงอาทิตย์
เพราะดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่โลกุตระธรรมสร้างขึ้น
แต่ปัญญาเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเรา
เป็นสิ่งที่โลกุตระสร้างไว้ในตัวเราตั้งแต่แรกเริ่ม
ปัญญาหรือจิตเดิมแท้ที่ทำให้เราไม่แตกต่างกันในความเท่าเทียม
แต่ที่คนเราโง่ฉลาด ตกต่ำ ดำขาว สูงส่งต่างกันในความเป็นความมี
นั่นอยู่ที่ใครจะสร้าง “กิเลส อุปทาน ความโง่ ความหลงผิด”
เข้ามาบดบังปัญญาญาณของตนเองได้มากกว่ากัน
ยิ่งบดบังมาก พลังชีวิตก็ยิ่งถดถอย
ชีวิตยิ่งหลงผิด จมลง ตกต่ำ
และเวียนว่ายกับกองทุกข์ได้ยาวนานมากขึ้นเท่านั้น.....
ต่อให้เป็นมหาสมุทรหากไม่มีฝนตกลงมา
วันหนึ่งแดดย่อมส่องเผาจนน้ำทั้งทะเลเหือดแห้งไปได้
ดังนั้นฝนจึงไม่ต่างอะไรกับจิตของเรา
มีจิตก็ยังมีชีวิต...
ที่สุดแห่งความรัก…..
จึงต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างในสภาวะ “ผู้สร้าง”
กับสภาวะของ “สิ่งที่ถูกสร้าง”
แยกแยะแต่อยู่ร่วมกัน
เพราะมันเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนเกื้อกูลกัน
เพียงแต่ถ้าเราเข้าใจสภาวะนี้ได้แล้ว
มันจะนำเราไปสู่ความเข้าใจในการเกิดดับของจิต
มันจะทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้นว่าชีวิตเราเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น มีเวลาเสื่อมและเวลาแห่งการจากลา
มีวันดับและมีวันเกิดขึ้นใหม่ตามเหตุและปัจจัย
(หรือจะไม่เกิดเลยก็ได้)
ความรักในความหมายนี้
จึงมิใช่ความรักเพื่อการครอบครองหรือเสน่หา
แต่เป็นความรักเพื่อการปล่อยวาง
เป็นความรักที่ถ่องแท้ในสัจธรรมแห่งความเป็นจริงแห่งชีวิตนั่นเอง
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่