:: ก๋าราณีตอบคำถามคุณคล้ายดาว::
ศรัทธานำทาง
ปัญญานำทาง
แค่ถ้า...มีศรัทธา แต่ไม่มีปัญญา
หรือมีปัญญา แต่ไม่มีศรัทธา
อย่างไหนจึงจะ “เข้าถึง” ธรรมะได้เร็วกว่ากัน
คำถามโดย : คล้ายดาว
วันที่ : 20 พฤษภาคม 2555
เวลา : 21:58:22 น.
ในธรรมะ
ไม่มีรู้เร็ว
ไม่มีรู้ช้า
มีแต่ “รู้” หรือ “ไม่รู้”
และใน “รู้”
แยกเป็น “รู้จริง” และ “รู้ไม่จริง”
ที่สำคัญไม่มีใครบอกใครได้
ว่าใคร “รู้” หรือ “ไม่รู้” อย่างไร
ต้อง “รู้” ด้วย “ตัวเรา” เอง
ปัญหาคือ เราจึง “สงสัย” ใช่ไหมครับ
ว่าที่เราคิดว่าเรา “รู้” นั้น
เรารู้อย่าง “ถูกต้อง” ตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง ?
..................................
เวลาคนใบ้ดื่มน้ำผึ้ง
แล้วพยายามอธิบายว่าน้ำผึ้งหวานอย่างไร
เป็นสิ่งที่ยากลำบากใช่ไหมครับ
ดังนั้นพระสงฆ์หรือผู้ปฏิบัติที่เพียรปฏิบัติตนจนรู้ธรรม
จึงไม่อาจบอกสอนใครได้
ไม่อาจอธิบายลักษณะหรือความรู้สึกของตนขณะรู้ธรรมได้
เพราะยิ่งพูด คนฟังยิ่งงง
ยกเว้นแต่เอาสิ่งไม่จริงมาพูดมาสอน
เพื่อให้คนฟังคล้อยตาม
หรือหลงเชื่อไปเองว่าบุคคลนั้นรู้แจ้งเห็นธรรมแล้ว
....................................
แม้แต่การที่ใครคนหนึ่งค้นพบวิธีเข้าถึงธรรม
แล้วพยายามบอกสอนคนอื่นว่า
ทางนี้สิดีที่สุด
วิธีนี้สิลัดตรงที่สุด
ก็ยากมากครับที่จะทำให้ใครตื่นรู้ทางธรรมได้เหมือนตน
เปรียบเหมือนการที่เราชอบทานอาหารรสจัด
คนอื่นไม่จำเป็นต้องชอบรสชาติเดียวกันกับเรา
คนชอบรสจืด ย่อมว่าแกงจืดอร่อยที่สุด
ในขณะที่คนชอบรสจัด
อาจว่าแกงจืดถ้วยนี้ไร้รสชาติสิ้นดี....
ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะปฏิบัติธรรมในรูปแบบใด ?
จะยึดถือในอาจารย์คนไหน ?
ต้องเลือกศรัทธาศาสนาใด ?
ต้องยึดแนวทางใด คำสอนใด คัมภีร์ใด ?
เพื่อจะพาตนให้พ้นทุกข์ พาตนให้เดินทางไปถึงธรรม
ธรรมอันเป็นแก่นแท้แห่งธรรม
ผมเองก็ตอบคุณไม่ได้จริงๆ....
รู้แต่ว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
เมื่อใครสักคนพาชีวิตตนเองจมดิ่งไปในห้วงทุกข์ที่สุดแห่งชีวิต
และเมื่อใครคนนั้นได้ตระหนักว่าความหมายของชีวิตคืออะไร
เราเกิดมาทำไม เรามีหน้าที่อย่างไร
เราจะอยู่อย่างไรให้เกิดประโยชน์
เราจะตายอย่างไรเพื่อให้เป็นการตายที่งดงามที่สุด
การตระหนักรู้ใน “ความจริง” ที่เป็นที่สุดแห่งทุกข์
จนอยากลุกขึ้นมาค้นหาคำตอบบางประการ
เพื่อตอบข้อสงสัยในชีวิตตนเองอย่างหมดจด
ผมว่าวินาทีนั้นเราก็เข้าถึง “ธรรมที่แท้” แล้ว
โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงคำว่า “ธรรมะและการปฏิบัติธรรม”
แม้แต่เพียงคำเดียว
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่