:: ก๋าราณีตอบคำถามคุณคล้ายดาว ::
แล้วเส้นทางแห่งธรรมมะ
หากไม่ใช่ด้วยศรัทธาหรือปัญญา
เราจะใช้อะไร ค้นหาธรรมะได้
คำถามโดย : คล้ายดาว
วันที่ : 20 พฤษภาคม 2555
เวลา : 22:00:36น.
ใช้การ “พิจารณาทุกสิ่งตามความเป็นจริง”
พิจารณาจาก กาย เวทนา จิต ธรรม
ความจริง 4 ประการของความเสื่อมแห่งโลกธรรม
1. กายานุปัสนาสติปัฏฐาน
เราจะต้องพิจารณาจนเห็นแจ้งให้ได้ว่า
กายของใครก็ตามที่ก่อกำเนิดขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน
ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมานั้น
ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ
ล้วนเสื่อมอยู่ตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวรตลอดกาล
ไม่มีใครไม่ตาย ไม่มีใครไม่สูญเสีย
ไม่พลัดพรากจากสิ่งของและบุคคลอันเป็นที่รัก
2. เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน
คือ ความรู้สึกนึกคิดอันประกอบไปด้วย
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
แต่เราพูดโดยรวมๆว่า เวทนา....
คือ ขบวนการของความรู้สึกที่เราต้องรู้ให้ถ่องแท้ว่า
ถึงที่สุดแล้วความรู้สึกนึกคิดที่เราปรุงแต่งขึ้นมานี้
เมื่อถึงเวลามันก็ไป มันก็เสื่อมไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน
3.จิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน
จิต คือ การรับรู้
รับรู้ผ่านทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ
ยกตัวอย่างเช่น ตาก็เห็นรูปหรือวัตถุ
สิ่งที่ท่านเห็น ท่านรับรู้ได้
แต่ท่านจะให้มันอยู่ถาวร เป็นไปได้ไหม ?
เสียงที่ท่านได้ยิน ท่านชอบ ท่านไม่ชอบ
ถึงชอบ...มันก็ไม่คงทน
แม้ไม่ชอบ มันก็ไม่คงอยู่กับท่านตลอดไป
กลิ่นต่างๆที่ท่านสูดดม ไม่ว่าเหม็นหรือหอม
คงทนไหม ?
ลิ้นรับรส...รสชาติทุกอย่างคงทนถาวรไหม ?
--- ไม่มี….ไม่มีสิ่งใดที่คงทนถาวรเลย
ทุกสิ่งล้วนมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไปอยู่ตลอดเวลา
กล่าวโดยสรุปก็คือ การพิจาณาทุกสิ่งตามความเป็นจริง
คือ การสอนให้ตัวเราให้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
รู้อะไรก็อย่าไปยึดติด
เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่คงทนถาวร
แม้กระทั่ง ความรู้ที่เรารู้
“ตรัสรู้” จึงแปลว่า ปล่อยวางสิ่งที่เรารู้
รู้อะไรก็ปล่อยวางสิ่งนั้น แต่มิได้หมายความว่าไม่ให้รับรู้
รับรู้ได้เพราะนั่นคือหน้าที่ของสมอง หน้าที่ของความคิด
ตาต้องมอง หูต้องได้ยินเสียง จมูกต้องได้กลิ่น
ลิ้นต้องรับรส กายต้องสัมผัสรู้สึกร้อนหนาว
ใจหรือสมองต้องคิด
หน้าที่เราไม่ใช่ไปห้ามสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ให้ทำหน้าที่ของมัน
แต่เราต้องรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง
ต้องรู้ว่าทั้งสิ่งที่เราเห็นเรารู้สึก ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้เลย
ล้วนตั้งอยู่บนความเสื่อมทั้งสิ้น
ตั้งอยู่บนความเป็นจริงของธรรมชาติ
มีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ มีเสื่อมสลายไป
เรามีหน้าที่ใช้ชีวิตก็ใช้ไป
แต่ต้องอยู่แบบรู้ทันความเป็นจริงข้อนี้ของชีวิต
4. ธรรมานุปัสนาสติปัฏฐาน
ธรรมชาติแห่งการได้มา
ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ล้วนไม่เที่ยง
ไม่เที่ยงเหมือนเช่นความจริงที่ได้กล่าวมาแต่เบื้องต้น
ว่าสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นล้วนตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง
กายไม่เที่ยง ความรู้สึกไม่เที่ยง
การรับรู้หรือความคิดไม่เที่ยง
และตัวสุดท้ายที่พูดถึงก็คือ
การได้มาทั้งปวงไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงทนเลย
ทั้ง 4 ข้อดังกล่าว
ไม่จำเป็นต้องใช้ศรัทธาหรือความเชื่อมาพิสูจน์
เพราะมัน “เป็นจริง” อย่างที่เป็นจริงอย่างแท้จริง
ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ใดในทางโลกมาพิสูจน์
เพราะ “ความจริง” ทั้ง 4 ข้อดังกล่าว
ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เป็นกฏแห่งความจริงแท้แน่นอนที่เราเรียกว่าเป็น “สัจธรรม”
เมื่อไหร่ที่เรารับรู้และยอมรับ
ในความจริงอย่างที่มันเป็น
เราจะทุกข์น้อยลง
อยู่ร่วมกับความทุกข์ทั้งหมดในชีวิตอย่าง “เข้าใจ”
และยอมรับความจริงแห่งทุกข์อย่างรู้เท่าทัน
สิ่งนี้ไม่ใช่การเอาชนะความทุกข์
หรือการมุ่งขจัดความทุกข์
เพื่อให้ชีวิตมีแต่ความสุข
เพราะไม่ว่าเราจะเกิดตายอีกกี่แสนชาติ
เราก็ต้องกลับมาเจอความทุกข์ทั้ง 4 นี้โดยมิอาจหลบเลี่ยง
ไม่ว่าเราจะเกิดมาเป็นสัตว์หรือคน ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือยาจก
เป็นนักการเมืองหรือเป็นนักบวช เป็นทหารหรือทนาย ฯลฯ
เราไม่มีทางหนีพ้นที่สุดแห่งความทุกข์ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
พลัดพรากสูญเสียจากสิ่งที่ตนมี
ต้องรับกรรมในสิ่งที่ตนคิดและกระทำ.....
ธรรมะที่แท้จริง --- จึงไม่ต้องไปแสวงหาเอาจากที่ไหน
เพราะมันอยู่ในตัวเราอยู่แล้วตลอดเวลา
นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมา
จนถึงวินาทีสุดท้ายที่เราจากโลกนี้ไป
เราทุกคนอยู่กับธรรม
แต่เราไม่เคยรู้สึกตัว
เราไม่เคยพิจารณาความจริงที่เราเผชิญ
ที่สุดแล้วเราก็เฝ้าปฏิเสธความจริง
เราจึงเพียรเสาะหาหนทางแสวงหาความสุขมากลบเกลื่อนความทุกข์
ทั้งๆที่การทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์สิ้นดี.....
สิ่งที่เราต้องทำ คือ การพิจารณาตนเอง
ดูและรู้ทัน “ความคิด” หรือ “จิต” ของตน
ให้รู้ว่าอยู่ในรอยทาง รอยธรรมที่ถูกที่ต้องที่ควร
สิ่งใดไม่ดี ไม่ถูกต้อง.... ละทิ้งและปรับเปลี่ยน
สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี รักษาไว้และทำอย่างต่อเนื่อง
ที่สุดแล้วต้องไม่ลืมว่า
เราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่
จบหน้าที่ก็ไป....
อย่าอาลัยอาวรณ์ในกายนี้ให้มากนัก
ถ้าอยากเกิดอีก ก็ต้องกลับมาเจอทุกข์แบบเดิมๆที่ไม่อาจหลีกพ้น
จะทน จะทุกข์ไปอีกกี่ชาติ
หมั่นถามตัวเองเพื่อเจริญสติ
และอย่าได้ประมาทในการใช้ชีวิตเลย
ผมเคยเขียนประโยคหนึ่งเอาไว้ว่า
“ชีวิตคือการค้นพบ
ไม่ใช่การค้นหา”
จะชีวิตหรือธรรมะ...
ล้วนไม่ต่างกัน
และถ้าเราจะ “ค้นพบ” ธรรมะ
สิ่งนี้ก็ล้วนอยู่ใน “ตัวเรา”.
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่