"...วิธีแก้ปากเสีย..."
หลวงพ่อเมตตาสอนวิธีแก้ปากเสีย (วจีกรรม4) โดยให้หลักไว้ดังนี้
โรคปากเสีย คือ โรคชอบต่อกรรม เมื่อถูกกระทบทางทวารทั้ง 6 (ประตูทั้ง 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มากระทบผิวกาย และธรรมารมณ์)
เพราะอุเบกขา หรือวางเฉยไม่เป็น เบรกจึงแตกเป็นปกติ มีผลทำให้กรรมบท 10 หมวดวาจา ไม่เต็มสักที (กรรมบท 10 หมวดวาจา 4 มี ไม่พูดโกหก, ไม่พูดคำหยาบ , ไม่พูดส่อเสียดหรือพูดนินทาผู้อื่น และไม่พูดเรื่องไร้สาระไม่เกิดประโยชน์)
วิธีปฏิบัติ
แก้โดย
1) พยายามคิดเสียก่อนจึงค่อยพูด
2) หรือพยายามคิดอยู่ตลอดเวลาที่ฟังคนอื่นเขาพูด
3) พยายามดึงจิต อย่าไปไหวตามคำพูดของผู้อื่น (โดยฟังอย่างเดียว ห้ามปรุงแต่งธรรมนั้นๆ)
4) พยายามฟังแล้วกรองเอาสาระจากคำพูดนั้นๆ ของเขา ว่ามีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ (ด้วยปัญญา)
5) เวลาคนอื่นเขาพูด จะยาวจะสั้น ปล่อยเขาพูดให้จบก่อน เราใช้ความคิดฟังไปแล้ว จะรู้ว่า คำพูดนั้นๆ มีสาระหรือไม่มีสาระ ควรพูดหรือไม่ควรพูด หรือ ควรวาง ควรตัด ก็รู้ได้ด้วยความคิด ไม่ใช่ประโยคไหนมากระทบหูแล้ว กูอยากจะพูดก็ว่าไปเรื่อย โดยไร้ความคิดพิจารณา
6) หากทำตาม 5 ข้อแรกแล้ว คิดอยากพูดบ้างก็ให้พิจารณาว่า พูดแล้วเป็นคุณหรือโทษ มีสาระหรือไม่มีสาระ ยิ่งเป็นสาระธรรมในพระพุทธศาสนายิ่งสำคัญ จะต้องมั่นใจเสียก่อนว่าเป็นความจริง ไม่ผิดศีล-ไม่ผิดพระวินัย ไม่ผิดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ผิดก็พูดได้ สรุปว่าต้อง นิสสัมมะ กรณัง เสยโย หรือใคร่ครวญด้วยปัญญาเสียก่อนจึงค่อยพูด เพราะแม้ว่าจะเป็นจริงแต่พูดแล้วคนฟังไม่เชื่อ-ไม่ศรัทธา ก็ไร้ประโยชน์ที่จะพูด |
|
สมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาแนะนำต่อ และสั่งสอนต่อ มีความสำคัญโดยย่อดังนี้
ก) " วาจา เป็นเหตุให้เกิดศัตรู และสร้างศัตรู ผู้รู้พึงกล่าววาจาด้วยความตริดตรองเสียก่อน เพื่อประโยชน์ให้แก่ตนเอง แต่ผู้ไร้สติ-สัมปชัญญะขาดปัญญา จักกล่าววาจาให้เกิดโทษแก่ตนเองและผู้อื่นอยู่เนืองๆ เพราะฉนั้นให้รู้สำรวมวาจาให้มากๆ โดยการพิจารณาเสียก่อนจึงพูด ''
ข) " กำลังใจของคนไม่เท่ากัน จงอย่าไปตำหนิใคร เพราะทำไปหรือตำหนิไปก็รังบแต่จักเพิ่มกิเลสขึ้นในจิต และสร้างศัตรูขึ้นแก่จิตของผู้อื่น ดังนั้นจึงควรสงบถ้อยคำไว้เป็นดีที่สุด แม้จักกล่าวว่าด้วยความหวังดีก็ตาม มันก็เป็นเนื่องด้วยกิเสอยู่ดี"
ค) “ สังขารุเบกขาญาณ เป็นธรรมเบื้องสูง ของผู้ถึงจุดสุดยอดแห่งมรรคผลนิพพาน " ขอให้พวกเจ้าหมั่นซ้อมหมั่นปฏิบัติเข้าไว้ วางอุเบกขาให้ถูกลักษณะของมัชฌิมาปฏิปทา โดยอาศัยศีลเป็นพื้นฐานที่ตั้งของสมาธิและปัญญา ตัว สังขารุเบกขาญาณก็จักเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หมั่นอัตตนา โจทยัตตานัง สอบจิต-สอบกาย-สอบวาจา เข้าไว้ว่า คิดเช่นนี้ ทำเช่นนี้ พูดเช่นนี้ มันผิดหรือถูกในหลักธรรมที่ตถาคตได้สั่งสอนมา พิจารณาให้มาก ๆ
ถ้าผิดก็จงอย่าทำเป็นอันขาด ถ้าถูกก็จงรีบทำด้วยความมั่นใจ ขยัน-พากเพียรเข้าไว้ มรรคผลที่ได้จากการกระทำของตนเองนั้นเป็นของแท้ ดีกว่าฟังคนอื่นพูดหรือเล่าว่า เขาทำเช่นนั้นได้ผลเช่นนี้
ง) มาเถิดเจ้า เข้ามาสู่หลักปฏิบัติธรรม อันเข้าสู่โลกุตรธรรมเบื้องสูงอย่างแท้จริง ตั้งใจไปเลยทิ้งทวนของชีวิตเสี้ยวที่เหลือนี้ให้แก่พระธรรม
ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป จงหมั่นคุมสติกำหนดรู้กิริยาของกาย-วาจา-ใจให้แน่วแน่มั่นคง อานาปานัสสติกับคำภาวนา อย่าทิ้งเป็นอันขาด ใครจักพูดอะไร ขอให้มีสติฟังให้ดี ๆ พิจารณาเข้าอิงพระธรรมคำสั่งสอน กลั่นกรองหาสาระให้ได้ แล้วเวลาที่จักพูด ก็จงคิดพิจารณาให้ดีว่ามีสาระหรือไม่ ถ้าไม่มีจงอย่าพูด อย่าทำเช่นนั้นเป็นอันขาด "
(หลวงปู่บุดดา)
“ไอ้คนเรานี้มันก็แปลก ชอบเอาลมปากเผากัน เอาไฟกิเลส โมหะ โทสะ ราคะเผากัน เผาตนเอง เผากาย เผาใจตนเองยังไม่พอ
ชอบเผื่อแผ่ไปเผาชาวบ้าน ชาวช่องเขาด้วย เผาจิตเผากายของเขามันสนุกหรืออย่างไร วิสัยชาวโลก ชอบนินทา-สรรเสริญ ไฟร้อน ไฟเย็น ก็เผาได้เผาดี ”
จาก : หนังสือธรรมะหลวงพ่อ หลวงฤาษี (พระราชพรหมยาน) และพระอริยเจ้าบางองค์
รวบรวมโดย : พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
|
|
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่