บทความทั่วไป

ใครชอบ ใครชัง

กะว่าก๋า







เขียนโดย : กะว่าก๋า

 




มีกลอนอยู่บทหนึ่งซึ่งผมชอบมาก จำได้ขึ้นใจ



ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด
ใครเชิด ใครแช่ง ช่างเขา
ใครเบื่อ ใครบ่น ทนเอา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ

 



สมัยเป็นนักศึกษา ผมทำงานกิจกรรมแบบเร่งร้อนและคาดหวังผลงานไว้สูงตลอด....
การใช้วิธีคิดแบบนี้ในการทำงาน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องปะทะความคิดกับผู้อื่นตลอดเวลา
ผมต้องทำงานด้วยความขุ่นเคือง ที่เพื่อนไม่ยอมทำงานในแบบที่เรามุ่งหวัง
ทะเลาะกับอาจารย์แบบจะเป็นจะตาย เมื่อเขาเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีทำงานของเรา
ผลของงานออกมาดีเกือบทุกครั้ง
แต่ที่แย่ คือ ความสัมพันธ์ของผมกับคนรอบข้างที่เริ่มต่ำทรุดและมองหน้ากันไม่ติด
ผมไม่คิดโทษ “ความวัยเยาว์” ที่ทำให้ผมคิดและทำแบบนั้น

ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการยึดติด “ตัวตน” ที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมากในตอนนั้น

 


..........................................................

 


ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ผมยังเชื่อมั่นในวิธีคิดแบบนี้มาโดยตลอด
จนเริ่มรู้สึกตัวอีกครั้งอย่างจริงจัง ว่าผมไม่ได้มีความสุขในการทำงาน

อีกทั้งกำลังกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต
ต้องมีอะไรผิดพลาดแน่ๆ......

มีสองส่วนที่ผมนั่งคิด
หนึ่ง คือ เราพยายามที่จะเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป
สอง คือ เราต้องเป็นในสิ่งที่คนอื่นคาดหวังมากเกินไป
อะไรที่ “มากเกินไป” ย่อมไม่ดีทั้งนั้น....
ที่สำคัญ กว่าผมจะรู้วิธีจัดการกับมัน ก็เล่นเอาย่ำแย่ไปหลายปีทีเดียว

 



..............................................

 



ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด
ใครเชิด ใครแช่ง ช่างเขา
ใครเบื่อ ใครบ่น ทนเอา
ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ




กลอนบทนี้ไม่ได้บอกสอนให้เราเป็นคนเพิกเฉยต่อความรู้สึกของคนรอบข้าง

หรือ ไม่ได้ชี้นำว่าเราควรไม่แยแสคำคน
หรือความรู้สึกของคนอื่นที่มีต่อตัวเรา
บางครั้งคำพูด หรือการแสดงออกของคนอื่น

ก็เป็นกระจกสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของตัวเรา
เพียงแต่กลอนบทนี้สอนให้เราหนักแน่น
และไม่รวนเรไปตามคำคน
และที่สำคัญปลดปลงให้เป็น เย็นให้ได้
ไม่ใช่ใครว่าอะไรทีก็เสียใจ ซวดเซ
เป็นทุกข์เป็นร้อน เป็นเดือดเป็นแค้น ไปเสียทุกครั้งคราว

 



..................................................


 


เมื่อเขาด่าเรา เขาด่าครั้งเดียว
แต่ใจเราเก็บมาคิด ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ไม่ต่างอะไรกับการเอามีดมาทิ่มแทงตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า


 


ไม่ง่ายหรอกครับ ที่จะหาสมดุลทางอารมณ์เจอ
เรื่องแบบนี้บอกสอนกันได้
แต่จะรู้หรือไม่ ทำได้หรือเปล่า
นั่นอยู่ที่ “คุณ” เพียงคนเดียว.

กล่องความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่