การปล่อยวาง
ก า ร ป ล่ อ ย ว า ง
ก า ร ป ฏิ บั ติ ต น เ พื่ อ ห ลุ ด พ้ น จ า ก ค ว า ม ทุ ก ข์ ต อ น ที่ 5
หลุดพ้นจากทุกข์ได้ด้วยการปล่อยวาง
การอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์นั่นแหละเป็นจุดหมายสำคัญของพุทธบริษัท การเป็นการอยู่ที่เป็นทุกข์นี้ไม่ใช่พุทธบริษัท เพราะความเป็นทุกข์มันแสดงว่า เราไม่รู้เรื่องนั้นถูกต้อง ไม่ตื่น
แล้วก็ไม่เข้าใจไม่แจ่มใสในเรื่องนั้นไม่เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในเรื่องนั้น มันก็เป็นทุกข์อย่างไม่จบไม่สิ้น เราจึงไม่ควรจะอยู่ด้วยความทุกข์
เราต้องอยู่ด้วยปัญญา... ด้วยการพิจารณาเอาไว้เสมอ...ตั้งปัญหาถามตัวเองไว้ อะไรเกิดขึ้นก็ถามว่า..อะไรกันนี่ อะไรกัน? ทำไมจึงโกรธ? ทำไมจึงเกลียด?ทำไมจึงพยาบาท? ทำไมจึงริษยาเขา? เรากินข้าวของเรา
เขาก็กินข้าวของเขา จะไปริษยาเขาทำไม?...ถามตัวเองอย่างนั้น แล้วก็ศึกษาไป ค้นคว้าไปก็จะถึงเรื่องว่า อ้อ! ไม่ได้เรื่องอะไร หาเรื่องให้เป็นทุกข์เปล่าๆ กลุ้มใจเปล่าๆ
เพราะความอิจฉาริษยา ความอยากได้ ความแข่งดีอะไรต่างๆ...เรารู้
จิตที่ไม่ยึดถือเป็นจิตที่โปร่ง...เบา...สบาย
พอเรารู้แล้วความทุกข์มันก็เบาลงไป แล้วคอยตักเตือนตัวเองไว้บ่อยๆใจก็เบาเรื่อย ถ้าใจไม่แบกภาระเรียกว่าใจเบา ใจโปร่ง ที่เราสวดมนต์ว่า...ภาระหะเวปัญจักขันธา...ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ...มันหนักที่ตรงไหน? มันหนักตรงที่ไปแบกเข้าไว้นั่น ตรงที่ไปยึดถือนั่นแหละ มันหนักตรงนั้น ถ้าเราไม่ยึดถือมันก็ไม่หนักอะไร เราเดินมือเปล่ามันก็ไม่หนัก ถ้าโยมหิ้วกระเป๋าไปด้วยมันก็หนัก ถ้าใส่ของมากมันก็หนักเข้าไปอีก หิ้วย่ามใบเดียวนี่ก็หนักแล้ว เวลาไปไหนมาไหนไม่อยากจะเอาไปเสียด้วยซ้ำไป แต่ไม่เอาไปก็ไม่ได้ไม่รู้จะใส่อะไรก็ต้องหิ้วย่ามไป ของอื่นไม่จำเป็นไม่อยากจะหิ้วไป เดินทางนี่ไปให้มันสบายๆ เบาๆ
จิตที่เบา คือจิตที่ไม่ยึดถือ
จิตที่เบา ก็คือจิตที่ไม่เข้าไปยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นของฉัน แต่เราใช้มันได้ มีเงินใช้เงินได้ มีทองใช้ทอง มีเพชรนิลจินดาก็ใช้ไปตามหน้าที่ใช้ให้เหมาะแก่เวลา แก่เหตุการณ์อย่าใช้พร่ำเพรื่อ ขโมยมันเห็นแล้วน้ำลายจะไหลออกมา แล้วมันจะมาเอาเสีย เราไม่ให้มันก็ทุบเลยเดี๋ยวนี้ไม่ได้...ขโมยทารุณมาก เอาแล้วทุบเสียเลย
มีให้เป็น ได้ให้เป็น ด้วยปัญญา
ฉะนั้น ต้องระวัง “มี”อะไรต้องมีให้เป็น “เป็นอะไรก็ต้องให้เป็น “ได้”อะไรมาก็ต้องได้ด้วยปัญญา มีด้วยปัญญา ใช้ด้วยปัญญา มันก็ไม่เป็นทุกข์ สภาพจิตใจเป็นปกติ ชีวิตก็ดีขึ้น
ความทุกข์โจมตีเพราะไม่มีการเตรียมตัว
สมัยหนึ่ง อาจจะถูกความทุกข์โจมตี เพราะเราเตรียมตัวไม่ทัน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเตรียมไม่ทัน มันโจมตีกระชั้นชิด...รับไม่ไหว แต่ว่าพอค่อยตั้งตัวได้ภายหลัง เพราะได้ฟังธรรมะแล้วเอาไปเป็นบทเรียนสอนจิตสะกิดใจ
ความเข้าใจในเรื่องชีวิตดีขึ้น ความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเราก็ดีขึ้น เราก็จักเบาตัวสบายใจเพราะเราไม่แบก ไม่เป็นยักษ์แบกเจดีย์แล้ว แต่เป็นยักษ์ที่ลุกขึ้นยืดแข้งยืดขาสะบัดขา แล้วหันไปบอกเจดีย์ว่า “กูไม่แบกมึงแล้ว” แล้วก็เดินสบายๆนี่ไปไหนก็แบกไปด้วย คือ ความยึดถือนั่นแหละที่เราแบกไว้เป็นกังวล
มาวัดก็ยึดถือ...คิดถึงบ้าน คิดถึงหลานน้อยๆคิดถึงนั่นคิดถึงนี่...มันก็เป็นทุกข์จะลุกจะนั่งไม่สบายใจไหนๆ มาแล้วก็ปล่อยมันไปเลย “เอ้า! ถ้าอยู่ก็ของกู ถ้ามึงเอาไปก็ของมึง ช่างหัวมัน” นึกในใจอย่างนั้น แต่ก็ต้องใส่กุญแจให้เรียบร้อย
อยู่ด้วยสติ รู้สึกเหตุผล พาให้พ้นจากทุกข์
ข้าวของต่างๆเก็บให้มิดชิด อย่าให้มันเห็น เอาไปฝากธนาคารยิ่งดี ปลอดภัย เงินก็ฝาก เพชรนิลจินดาก็ไปใส่ตู้ฝาก เขามีตู้ทุกธนาคาร...เอาไปฝากไว้ เราถือแต่กุญแจไว้ไม่ต้องเอามาอวดใครมันก็อยู่กับเรา แล้วก็ใจเราอย่าไปอยู่ที่ตู้ธนาคารด้วยนะ พอเอาไปใส่ตู้แล้วใจมันไปอยู่ตรงนั้นด้วย “ตู้นั้นๆๆ” ใจมันไปอยู่ตรงนั้น
อะไรที่เราชอบอยู่ตรงไหนใจมันไปอยู่ตรงนั้นก็ไปยึดถือตรงนั้นเอง เอาไปเก็บแล้วปลอดภัย แล้วไม่ต้องคิดถึง ถึงเวลาเราก็ไปเสียค่าเช่าให้เขาแล้วกัน อย่างนี้ใจสบาย เพราะเราอยู่ด้วยปัญญา เราอยู่ด้วยสติ รู้จักเหตุผลในสิ่งนั้นๆ ตามสภาพที่เป็นจริง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า...จงดูทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ แล้วท่านจะไม่ทุกข์เพราะสิ่งนั้น
ทุกคนสามารถอ่าน ติดตามได้ที่ http://www.facebook.com/athingbook
ถูกใจเพจ facebook http://www.facebook.com/AThingBooks?ref=hl
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่