ห้าช่องทางแห่งการรับรู้
เขียนโดย - กะว่าก๋า
เมื่อเธอถามฉันว่าช่องทางแห่งการรับรู้ทั้งห้านั้นมีสิ่งใดบ้าง ?
ฉันตอบเธอว่า…
มีตา หู จมูก ลิ้น กาย
ตา - ดู
หู - ได้ยิน
จมูก - ได้กลิ่น
ลิ้น - รับรส
กาย - สัมผัส
การรับรู้นำไปสู่การปรุงแต่ง
ปรุงแต่งที่ใด ?
ปรุงแต่งที่ใจ
ใจคืออะไร ?
ใจคือความคิด
คิดอะไร ?
คิดในสิ่งที่รับรู้ผ่านทาง 5 ช่องทางแห่งการรับรู้
เมื่อตามองเห็น วัตถุที่ถูกเห็น ถูกปรุงแต่งที่ใจ
สมองคิดทันทีว่านี่คืออะไร ฉันชอบหรือไม่ชอบ
ถ้าชอบ..อยากได้มาเป็นของตัวเอง
ถ้าไม่ชอบอยากผลักไสออกไป
หูได้ยินเสียง ใจปรุงแต่ง
ถ้าเป็นเสียงสรรเสริญเยินยอปลื้มเปรมไปกับถ้อยคำหวานหูนั้น
หากเป็นเสียงด่าทออันหยาบคาย ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากรับรู้
จมูกรับกลิ่น กลิ่นจากเครื่องหอม...ชอบ
กลิ่นเหม็นบูดเน่าเสีย รังเกียจอยากเดินหนี
ลิ้นรับรส
รสชาติหวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ชอบตามจริต
รสขม รสผะอืดผะอมอยากผลักไส
ไม่อยากชิมลิ้มรส
กายสัมผัสร้อนหนาว ซาบซ่าน อบอุ่น ตราตรึง ติดใจอยากครอบครอง
แต่พอความสุขจากการได้มาเริ่มลดน้อยถอยลง คิดอยากผลักไส
...................................
เราใช้ชีวิตท่ามกลางความเป็นคู่ตรงข้ามอยู่ตลอดเวลา
ได้มา และ เสียไป
สุข และ ทุกข์
รัก และ ผิดหวัง
ขาว และ ดำ
ฯลฯ
..............................
ความทุกข์ในชีวิตมนุษย์ล้วนเกิดจาก
ทั้ง 5 ช่องทางการรับรู้ทั้งหมดทั้งสิ้น
เพราะตาเห็น หูได้ยิน จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัสร้อนหนาว
แต่นั่นย่อมไม่ใช่ความผิดของช่องทางการรับรู้ทั้ง 5
เขาทำหน้าที่รู้ของเขา
เป็นเราต่างหากที่ไป “ปรุงแต่ง” อาการต่างๆให้เกิดขึ้นที่ความคิด
คิดแล้วยึดติดในอาการนั้น
เห็นแล้วอยากได้มาเป็น “ของกู”
ได้ยินแล้วชอบอยากได้มาเป็น “ของกู”
รับกลิ่นหอมยึดติดในความหอมนั้น แล้วยึดความหอมนั้นว่าเป็น “ของกู”
รับรสชาติที่ถูกปากก็บอกว่านี่แหละรสชาติ “ของกู”
กายสัมผัสสิ่งที่พึงใจแล้วบอกว่า นี่แหละ “ของกู”
ยิ่งติดยึดในความเป็นกู ยิ่งทุกข์
เพราะยิ่งครอบครองไว้มาก
ยิ่งสูญเสียมาก
สิ่งต่างๆที่ยึดโยงไว้....ล้วนไม่เที่ยง
ถึงเวลามันเสื่อมไปทั้งสิ้น
จะเป็นหน้าตา วันหนึ่งก็เหี่ยวเฉาหย่อนยาน
จะเป็นความสุข ความทุกข์ มันมาเดี๋ยวมันก็ไป
ชื่อเสียง คุณงามความดี ที่บอกว่าคนจดจำยกย่องบูชา วันหนึ่งเขาก็ลืม
เงินทอง ตำแหน่งแห่งหน ยศถาบรรดาศักดิ์
คนรัก ครอบครัว ฯลฯ
เคยถามตัวเองบ้างไหมว่ามีอะไรที่เป็นของเราบ้าง ?
ที่บอกว่านี่คือบ้านของฉัน ที่ดินของฉัน เมื่อร้อยปีที่แล้วมันเป็นของใคร ?
ที่บอกว่านี่คือประเทศของฉัน เมื่อพันปีที่แล้วมันเป็นแผ่นดินของใคร ?
ตัวตนที่บอกว่าฉันคือนายก ฯ
ฉันคือผู้ยิ่งใหญ่ ฉันคือนายทหาร ฉันคือนายพล
ฉันคือศิลปิน ฉันคือแพทย์ ฉันคือคนสวย
ฉันคือดารา ฉันคือคนเก็บขยะ ฉันคือพ่อค้าปลา
ฉันคือคนไทย ฉันคือคนจีน ฉันคือฝรั่ง
ฉันคือคนผิวเหลือง คนคือคนผิวดำ ฯลฯ
มีอะไรที่เราต่างกัน ?
ทั้งจุดเริ่มต้นแห่งการกำเนิด
และจุดสุดท้ายแห่งการแตกดับ
...................................
ไม่อยากทุกข์ ไม่ใช่หยุดการรับรู้
ไม่ใช่การนั่งหลับตาไม่ไหวติงเพื่อให้ไม่ต้องรับรู้อะไร
ไม่ใช่ไม่อยากทุกข์ ก็หยุดการรับรู้ด้วยการ
ทิ่มตาให้บอด แทงหูให้หนวก ปิดจมูก เย็บปาก
หรือ เก็บตัวอยู่ในถ้ำเพื่อจะได้ไม่ต้องสัมผัสเนื้อหนังมังสา
หยุดใจไม่ให้คิดก็ไม่ได้
ในเมื่อเขาทำหน้าที่คิด ทำหน้าที่เห็น ฟัง รับกลิ่น รับรส รับสัมผัส
สิ่งที่เราต้องทำ...
คือการรู้เท่าทันอาการที่ใจเราปรุงแต่งขึ้น
รู้แล้วปล่อยวาง
.......................................
ปล่อยวางสิ่งใด ?
ปล่อยวางสิ่งที่รู้
รู้ว่าทุกสิ่งที่เรามีอยู่นั้นไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน
ท้ายที่สุดแล้วก็ไปสู่สภาวะเดียวกัน คือ “ความว่าง”
เมื่อมาจากความว่าง
และกลับสู่ความว่าง
ยังจะมี “เขา” มี “เรา” ไปทำไม
ยังจะแบ่งเขา แบ่งเราไปทำไม
.....................................
เราต่างแสวงหา “ทางแห่งการหลุดพ้น” ด้วยวิธีต่างๆนานา
เราต่างแสวงหา “ปัญญา” จากสิ่งต่างๆที่อยู่เหนือธรรมชาติ
แท้จริงแล้ว “พุทธะ” ล้วนอยู่ในจิตของทุกผู้คน
ทุกสรรพสัตว์ และทุกสรรพสิ่ง
เพียงแต่จิตเดิมแท้ของเราถูกห่มคลุมไปด้วยกิเลส
อันเกิดจากการปรุงแต่งและสร้างขึ้นของจิตใจ
ผ่านช่องทางการรับรู้ทั้ง 5
จนไม่อาจเปล่งแสงสว่างออกมาได้
ทางแก้ไข...
ไม่ใช่การเพิ่มแสงให้แก่หลอดไฟ
หากแต่เป็นการเดินขึ้นไปถอดหลอดไฟ
แล้วเอาผ้าสะอาดเช็ดฝุ่นที่เกาะกุมหลอดไฟนั้น
เพียงเท่านี้ “แสงสว่าง” ที่มีอยู่เดิม
ก็เปล่งแสงสว่างแห่งปัญญาออกมาได้โดยกระจ่างแจ้ง
..................................
ธรรมะที่แท้แล้ว
ไม่มีสิ่งใดที่ซับซ้อน
ธรรมะคือธรรมชาติ
ธรรมชาติ คือ สิ่งที่เป็นไปของมันเช่นนั้นเอง
ธรรมะมิใช่เรื่องยากเกินเข้าใจ
แต่มิใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงความจริงอันเป็นสิ่งสูงสุด
เพียงการท่องจำมิอาจเรียกได้ว่าเข้าใจธรรมะ
เพราะธรรมะไม่ใช่การท่อง แต่คือการกระทำ
คือ การปฏิบัติซ้ำๆจนเกิดความเคยชิน
..................................
ธรรมะที่แท้จึงมิใช่การแสวงหา
หรือการสร้างขึ้นมาใหม่
หากแต่เป็นการปล่อยวางกิเลสที่มีอยู่
เพื่อให้ “จิตเดิมแท้” ได้เปล่งพลังของมันออกมาอย่างสมบูรณ์
...................................
และธรรมะที่แท้แล้ว
เป็นเพียงการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
ตามแต่สิ่งสมมติที่เราได้เป็นอยู่
เป็นพระก็เป็นพระที่ดี เป็นครูก็เป็นครูที่ดี
เป็นพ่อเป็นแม่คนก็ทำหน้าที่ให้ดี
เป็นลูกก็เป็นลูกที่ดี
เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง ต่างทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
เราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่
เมื่อหมดเวลาก็กลับคืนสู่สภาวะเดิมที่เรากำเนิดมา
มาก็ว่างเปล่า กลับก็ว่างเปล่า
เราไม่อาจครอบครองได้
แม้แต่ความดี – ความงาม – ความเลว – ความชั่วใดใดด้วยซ้ำไป
...................................
เราต่างทำตามหน้าที่…
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ทำตามหน้าที่
นี่คือ ถ้อยคำที่ฉันอยากแบ่งปันให้เธอฟัง
...................................
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
ฉันอ่านโกอานเซน
แล้วสงสัยอย่างยิ่งยวดว่า
เหตุใด...ก้อนหินจึงเป็นพุทธะ
ด้วยความเพียรอย่างยิ่งยวด
ฉันเองมิได้รับคำตอบใดในตอนนั้น
นอกจากความงุนงงสงสัย
บัดนี้...ฉันศรัทธาในคำถามนั้น
ศรัทธาอย่างยิ่งยวด
ฉันสิ้นความสงสัยในคำถามนั้น
แต่ยังไม่ละความเพียร….
เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งความศรัทธา
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่