บทความทั่วไป

เรียนไปทำไม ?

กะว่าก๋า

เขียนโดย : กะว่าก๋า


 



เราเรียนไปทำไม ?

เราเรียนวิชามากมายร้อยแปดพันประการ
วิชาที่เรามักตั้งคำถามว่า
ให้ฉันเรียนไปทำไม ?

เหมือนกับที่ผมเคยตั้งคำถามว่า
เราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ
วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกซ์ไปทำไม ?

ไม่เห็นมันได้ใช้ในชีวิตจริงสักหน่อย
เวลาไปขายก๋วยเตี๋ยว 3 ถ้วย 60 บาท พิเศษก็ 90 บาท
ไม่เห็นต้องไปถอดสแควรูท หาค่าพาย
หาจุดทศนิยมปัญญาอ่อนอะไรนั่นสักหน่อย

หรือถ้าไปเดินป่ากลางเขา ไม่เห็นต้องใช้เคมีสูตรไหน
ก็รู้โดยสัญชาติญาณว่าถ้างูเห่าเลื้อยมา
ก็ตัวใครตัวมัน จะวิ่งหนีหรือจะหันหน้ามาสู้ ต้องเลือกเอาสักอย่าง



............................................



ผมเก็บคำถามนี้ไว้ในใจมานานโดยไม่มีคำตอบ
ว่านักการศึกษาจัดวิชาเหล่านี้ให้เราเรียนไปทำไม ?


............................................



โลกนี้มี 2 ด้านใช่ไหม ?

ด้านดี – ด้านชั่ว
กรรมดี – กรรมชั่ว
ขาว – ดำ
ซ้าย – ขวา
หน้า – หลัง
ฯลฯ


เราต้องเรียนรู้ทั้งสองฝั่ง เพื่อให้รู้ถึงความแตกต่างของชีวิต
ผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองนี้ พยายามเหลือเกินในการผลักความดีเข้าหาเด็ก
แล้วผลักไสความเลวให้เด็กไม่ต้องรับรู้
ปิดหูปิดตา แล้วใช้วิธีคัดกรองด้วย “ความเชื่อ” ของตัวเองมาตัดสิน
ว่าเด็ก “ควรรู้” หรือ “ไม่ควรรู้” อะไร.....


เมื่อเด็กไม่มีภูมิต้านทานความเลว
มันต้องมีแน่ๆที่วันหนึ่งเขาจะหลุดเล็ดลอดสายตาจากเรา
แล้วได้เห็น ได้สัมผัสด้านมืดของชีวิต
ถามว่าเด็กที่ไร้ภูมิต้านทานความเลวจะรู้ทันความเลวไหม ?
โลกนี้มีความเลวร้ายในสันดานกมลเต็มไปหมด
เป็นโลกแห่งความสกปรก แปดเปื้อน
เป็นโลกที่เต็มไปด้วยเล่ห์กล ความเอารัดเอาเปรียบ
โลกแห่งตัณหาราคะ โลกแห่งการแย่งชิงแข่งขัน

เราสร้าง “คนดี” ที่ “ไร้ปัญญา” มาทำไม
สร้างขึ้นมาแล้วดำรงตนอยู่ในโลกเหม็นเน่าใบนี้ไม่ได้
ทำไมไม่ยอมรับความจริงอีกด้านของชีวิต
ว่าแท้ที่จริงแล้ว โลกนี้มีด้านมืด ด้านสว่าง
เพียงแต่เราต้องชี้ให้เด็กเห็นและแยกแยะด้วยปัญญาให้ได้ว่า
อะไรที่เป็นทางเจริญ อะไรที่นำไปสู่ทางเสื่อม
บางสิ่งถึงแม้ดูไม่ดี แต่ถ้าคุณเลือกมัน คุณก็ต้องรับผลแห่งการกระทำนั้น

บอกเขาสิครับ ว่าถ้าหากเขาเลือกเดินเข้าสู่ความมืด
เขาอาจจะต้องพบเจออะไร
บางที...นอกจากการตะโกนบอกปาวๆ ว่า “ไฟมันร้อน”
เขาอาจไม่มีทางเชื่อ...จนกว่าจะถูกไฟร้อนนั้นลามเลียมือของเขาเอง

หน้าที่เราคือ ปลอบโยน ไม่ใช่ซ้ำเติม
คนที่ไม่เคยทำผิด จะรู้ได้อย่างไรว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นอย่างไร


.............................................




เราเรียนรู้วิชาต่างๆไปเพื่ออะไร ?
ไม่เคยมีครูคนไหนบอกผมมาก่อนเลยในชีวิต
ว่าวิชาคณิตศาสตร์ที่เราเกลียดกลัวเป็นนักหนา
วิชาเคมีที่ต้องนั่งท่องนั่งจำสูตรบ้าบอมากมายมหาศาลนั้น

เขากำลังสอนให้เราเรียนรู้ที่จะ “แก้ไขปัญหา”

“ปัญหา” ทำให้เกิด “ปัญญา”

ปัญญาทำให้สมองรู้จักคิด
คิดหาหนทางและวิธีในการแก้ปัญหา

ทำให้เรารู้ว่าทุกปัญหา... “แก้ไขได้”
แก้ได้ด้วยระบบ ด้วยวิธีการคิดอย่างมีขั้นตอน
ด้วยวิถีทางต่างๆ

แล้วเมื่อออกไปเผชิญชีวิตจริง
จะได้รู้จักแก้ไขปัญหาต่างๆของตัวเองอย่างมีระบบและมีวิธีคิดที่ดี
คิดถูกก็แก้ไขปัญหาได้เร็ว
คิดผิด ล้มเหลวก็ไม่เป็นไร
ค่อยๆหาวิธี หาหนทางใหม่ เดี๋ยวก็แก้ไขปัญหานั้นๆได้


เหมือนเวลาใครสักคนบ่นว่า

“ฉันอยากวาดรูปสวยๆสักใบ แต่ฉันวาดไม่เป็น”

สิ่งที่เขาต้องทำ ไม่ใช่การอ่านหนังสือวิธีวาดรูปให้สวย 100 รอบ
อ่านได้ เรียนรู้ได้ จำได้ แต่ใช้เป็นแค่แนวทางในการเรียนรู้

สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณต้อง “ลงมือทำ”

เรียนรู้ระบบการวางแผน
เรียนรู้ว่าหากอยากวาดรูปสักใบต้องเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน

เรียนรู้เรื่ององค์ประกอบของรูป เรียนรู้เรื่องแสงเงา น้ำหนักสี เรียนรู้เทคนิคในการผสมค่าสี
เรียนรู้แล้วก็ลงมือทำ
ทำบ่อยเข้าก็เกิดความชำนาญ
เมื่อชำนาญมากเข้า...จากเรื่องยากก็กลายเป็นเรื่องง่าย



..........................................



เป้าประสงค์ของการศึกษาที่แท้จริง
จึงมีเพียงแค่นี้....

เขาไม่ได้สอนให้คุณจำแล้วลืม
ไม่ได้สอนให้ท่องจำแล้วสอบ


หากแต่ “การศึกษาที่แท้จริง”
จะฝึกให้เราเคยชินในการเผชิญปัญหาด้วยปัญญา
และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ


การศึกษาที่แท้จริง....
จะไม่แบ่งแยกว่าใครโง่ ใครฉลาด
ทุกคนล้วนเท่าเทียมและสามารถเปล่งประกายความสามารถที่ตนเองมีอยู่

หนึ่ง ...ตัวเองต้องค้นหาให้พบ ว่าเรามีความสามารถอะไร ?
ชอบอะไร ? ถนัดอะไรเป็นพิเศษ ?
เรียนรู้เรื่องใดแล้วรู้สึกมีความสุขและสนุกไปกับการเรียนในวิชานั้น ?

สอง...ถ้าผู้เรียนค้นหาตัวเองไม่พบ
ครูต้องเป็นผู้กระตุ้นและดึงเอาความเก่งกาจของแต่ละคนออกมาให้ได้
นั่นจึงจะเป็น “ครูที่แท้จริง”



…………………………………………



โลกนี้แท้จริงแล้วไม่อาจแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน
การศึกษาที่แท้จริงจะทำให้เรารู้ว่า
เราไม่ได้รู้อะไรมากนัก
เพราะความรู้ในโลกนี้มากมายมหาศาลจนเราไม่อาจรู้ได้ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

การที่เรารู้บางเรื่องมากกว่าผู้อื่น ไม่ได้หมายความว่าเราฉลาดหรือเก่งกว่าคนอื่น
เราแค่รู้มากกว่าเพราะเราสนใจมันมากกว่าคนอื่น
เราทำมันบ่อย จนเราเชี่ยวชาญ
แต่ไม่ได้หมายความว่า
เราจะเก่งที่สุดในโลกใบนี้


เหมือนการเล่นเป่ายิ้งฉุบ
คุณว่าคุณเก่ง....
ออกกรรไกรชนะกระดาษ
แต่กรรไกรก็แพ้ค้อน ค้อนแพ้กระดาษ


ชีวิตจริงก็ไม่ต่างอะไร
คุณอาจเป็นนักเขียนแบบที่เก่งที่สุด แต่คุณก็อาบน้ำหมาไม่ได้เรื่อง
คุณอาจทำกับข้าวอร่อย แต่คุณอาจเป็นผู้ชายที่ตัดหญ้าไม่เอาไหน
คุณอาจเป็นนักรักที่เก่งกาจบนเตียง แต่เป็นช่างตัดผมที่ห่วยแตก
ฯลฯ


คิดแบบนี้ มีใครยิ่งใหญ่กว่าใคร ....ไม่มี
มีใครที่อยู่เหนือใคร....ไม่มี


เวลาแพ้หรือล้มเหลว ไม่เห็นต้องไปเสียใจอะไร
แค่เรายังใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง
วิธียังไม่ถูกต้อง ก็หาวิธีใหม่
ค่อยๆแก้ไขปัญหาด้วยสติ ทำปัญหาให้มันมีขนาดเล็กลง
ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ แต่คอยไปขยายขนาดของมันให้ใหญ่โตขึ้น


เวลาชนะอย่าไปฮึกเหิมลำพองใจ
เพราะคนที่เก่งกว่าเราก็ยังมีอีกมากมายบนโลกนี้....


...........................................



วันนี้....
ผมไม่สนใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการศึกษา
อย่างที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย
พยายามเหลือเกินในการโฆษณาชวนเชื่อ
ว่าหากมีการปฏิรูปแล้ว การศึกษาในบ้านเราจะดีขึ้น
ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า


“เป้าหมายและจุดประสงค์ในการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร ?”


ให้เปลี่ยนระบบการศึกษาอีกหมื่นครั้งก็ไม่มีความหมาย
ให้เปลี่ยนชื่อปรัชญาการศึกษาอีกแสนรอบก็ไม่มีประโยชน์

เหมือนการเมืองที่เราด่านักการเมืองอยู่ทุกวัน
เหมือนที่เราพยายามยัดถ้อยคำสวยหรูลงไปในรัฐธรรมนูญ

ตราบใดที่คนของเรายังไม่รู้จัก “คิด”
ตราบใดที่คนของเรายังไม่มี “ปัญญา”

ตราบนั้น....ประเทศชาติคงไปไหนได้ไม่ไกลเกินกว่า “ส้นเท้า” ของตัวเราเอง.










กล่องความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่