บทความทั่วไป

ชีวิต อันเป็นทีรัก...

เปิ้ล

ชี วิ ต อั น เ ป็ น ที่ รั ก...

 

 

 

 

 

สัตว์ทั้งปวงสะดุ้งต่ออาชญา กลัวต่อความตาย บุคคลเอาตนเข้าเปรียบอย่างนี้แล้ว ไม่ควรฆ่าเอง และไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นฆ่า

ความรักตนเป็นสิ่งธรรมดาอย่างหนึ่งในสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย กล่าวให้แคบเข้าคือ

มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั่วไป ความรักตนมีเหนียวแน่นกว่าความรักอย่างอื่น ดังที่ท่านว่า 

“เอาใจพิจารณาไปทั่วทุกทิศแล้ว ยังไม่พบใครอื่นในที่ไหนอันจะเป็นที่รักยิ่งกว่าตน” 

ตนของผู้อื่นก็เป็นที่รักของเขามากเหมือนกัน ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น พุทธสุภาษิตเหล่านี้ตรงกันกับที่เราชอบพูดว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา

และตรงกับที่ขงจื้อพูดว่า “จงทำต่อผู้อื่นทำนองเดียวกับที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นทำต่อท่าน”คำพูดของขงจื้อกับพระเยซูนั้น

มีความหมายอย่างเดียวกัน ขงจื้อกล่าวว่า “จงทำ” ส่วนพระเยซูกล่าวว่า “อย่าทำ” พระเยซูสอนให้เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ส่วนขงจื้อสอนให้ทำในสิ่งที่ควรทำ

พระพุทธเจ้าทรงย้ำมากในเรื่องนี้ ศาสนาแห่งพระองค์เป็นศาสนาแห่งความไม่เบียดเบีย

คือ “อหิงสา ปรโม ธัมโม” ทรงยกย่องว่า ความไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมอันเลิศ ทรงยอมแม้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน

แต่ไม่ได้ทรงเบียดเบียนตอบ ในประวัติของพระองค์มีหลายครั้ง ที่ถูกเบียดเบียน ใส่ร้ายป้ายสี ทั้งเรื่องฆ่าคนและเรื่องผู้หญิง

แต่ทรงเอาชนะด้วยความอดทน ความสงบ ความนิ่ง ปล่อยให้กรรมที่บุคคลนั้นๆ ก่อขึ้น หันมาลงโทษผู้ก่อเอง 

การใส่ร้าย ใส่ความ ป้ายโทษให้ผู้อื่นนั้น เหมือนการเสกเสือขึ้นมาให้กัดคนอื่น เมื่อมันกัดคนอื่นไม่ได้ มันก็ย้อนมากัดคนเสกเองตัวอย่าง

พระเทวทัต และนางจิญจมาณวิกา เป็นต้น

 

 

ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นนั้น ได้รับการยกย่องในทุกศาสนา และในหมู่กัลยาณชน

เพราะถือว่าการไม่เบียดเบียนกัน เป็นความดีของสังคม สังคมใดไม่มีการเบียดเบียนกัน

สังคมนั้นย่อมมีความสงบสุข พระพุทธเจ้าตรัสพุทธสุภาษิตนี้ เมื่อประทับอยู่ที่ เชตวณาราม เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุ 6 คน มีเรื่องย่อดังนี้

ในสมัยหนึ่ง ภิกษุพวก 17 คน ซ่อมแซมเสนาสนะเพื่ออยู่อาศัยเอง แต่เมื่อซ่อมเสร็จแล้ว

ภิกษุพวก 6 คน ไล่พวก 17 ออกจากเสนาสนะ อ้างว่า พวกตนอายุพรรษามากกว่า

เสนาสนะพวกนั้นควรถึงแก่ตน เมื่อพวก 17 ไม่ยอม เพราะอ้างว่า พวกตนซ่อมแซมไว้ พวก 6 จึงตีพวก 17 – พวก 17 ร้องไห้ลั่นวิหาร

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้แล้ว ตรัสโอวาทภิกษุพวก 6 ว่า “ธรรมดาภิกษุไม่ควรทำอย่างนั้น ภิกษุใดทำ จะเป็นอาบัติ”

ดังนี้แล้วจึงบัญญัติข้อห้ามมิให้ประหารกัน และได้ทรงกล่าวอีกต่อไปว่า

 “ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ย่อมกลัวต่อความตายฉันท์ใด แม้สัตว์เหล่าอื่นก็เหมือนกัน

ย่อมกลัวต่ออาชญา กลัวต่อความตายฉันท์นั้น รู้ดังนี้แล้ว ไม่ควรฆ่าเอง และไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นฆ่า” 

ดังนี้แล้วทรงแสดงธรรมต่อไป ด้วยพระคาถาว่า “สัพเพ ตะสันติ ทัณฑัสสะ สัพเพสัง ชีวิตัง ปิยัง” เป็นอาทิ มีนัยดังได้พรรณามาแล้วแต่ต้น

 

 

กล่องความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่