กะก๋าแนะนำหนังสือ : ปล่อยวางอย่างเซน
หนังสือ : ปล่อยวางอย่างเซน
รวบรวมและเรียบเรียงโดย : ละเอียด ศิลาน้อย
สวัสดีเมฆา
ฉันเขียนจดหมายถึงเธอตอนตีห้าครึ่ง
ซึ่งฉันตื่นและไม่คิดจะล้มตัวหลับต่อ
เมฆารอรับหนังสือที่ฉันกำลังส่งไปถึงเธอด้วย
หนังสือเล่มนี้ชื่อ ปล่อยวางอย่างเซน
เขียนโดยละเอียด ศิลาน้อย
.....................................
ฉันเคยเล่าไปก่อนหน้านี้ ว่าหนังสือเล่มนี้คือหนังสือที่ทำให้ฉันอึ้ง ทึ่ง
และงงงันมาพักใหญ่ในชีวิต
ก่อนหน้านี้ฉันเคยอ่านหนังสือเซนมามาก
แต่การอ่านมามากๆ ไม่ได้แปลว่าเราถ่องแท้หรือเข้าใจในสิ่งที่อ่าน
เซนอ่านไม่ยาก แต่เข้าใจโคตรยาก
นับเนื่องจากอดีต....
เซนเป็นการถ่ายทอดวิถีธรรมโดยไม่พึ่งพิงคัมภีร์หรือตัวอักษร
เซนไม่อาจอธิบายได้ด้วยพระสูตรหรือการท่องบ่นสวดมนต์ใดใด
เซนถ่ายทอดผ่าน “จิต” สู่ “จิต”
เซนบรรลุธรรมได้ในทุกขณะจิต
และเมื่อเรามองเห็นธรรมชาติเดิมแท้แห่งจิตตน
เราก็บรรลุความเป็นพุทธะ....
หลายปีที่ฉันนั่งอ่านหนังสือเป็นตั้งๆ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือเซน?
และเซนคืออะไร ?
เมฆาเชื่อไหม.....ฉันไม่เคยได้รับคำตอบที่แจ่มกระจ่างเลยสักครั้ง
..................................
ต้นธารแห่งเซนน่าจะเกิดในอารยธรรมอินเดีย
ผ่านจีน และ เบ่งบานถึงขีดสุดที่ญี่ปุ่น
แล้วในที่สุดสายธารธรรมก็ไหลรินผ่านไปยังทุกแห่งบนพื้นโลก
ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตก หรือ โลกตะวันออก
เราศึกษาเรื่องราวของเซนผ่านคำสอน ผ่านเรื่องราวเล่าขาน
จากอาจารย์เซนทั้งหลาย นับตั้งแต่พระพุทธเจ้า เล่าจื๊อ
พระโพธิธรรม เว่ยหลาง บาโช เอกิโด ฯลฯ
อาจารย์เซนต่างท้าท้ายวิธีคิดอันยึดติดกับตัวตนของศิษย์แต่ละคนด้วยวิธีต่างๆ
สอนโดยไม่สอน..
แต่ชี้ทางด้วยวิธีอันเฉียบขาดและฉับพลันทันใด
เราจึงมักงงงวย...
เมื่อได้อ่านและพบว่า หลายครั้งลูกศิษย์เซนบรรลุธรรมขณะที่ถูกตะคอกใส่หน้า
ถูกตีด้วยไม้พลอง หรือแม้ขณะที่นั่งมองดูก้อนหินตกกระทบน้ำ
รวมไปถึงวิธีการขับโกอาน หรือ การไขปริศนาแห่งถ้อยคำกวี
“ทุกขณะจิต คือ หนทางแห่งการรู้แจ้งเห็นธรรม”
เซนจึงไม่ใช่เรื่องลี้ลับซับซ้อน
เป็นวัตรปฏิบัติอันเรียบง่าย ไม่มีอภิหารใดใดมาล่อลวง
หากแต่ผู้เรียนต้องทุ่มเทจิต พร้อมกายอันมุ่งมั่น
ในการเรียนรู้สอบจิต --- และมุ่งเข้าสู่จิตเดิมแท้ของตน
.......................................
ปล่อยวางอย่างเซน
เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก .....ฉันจำได้ดีนะเมฆา
ครั้งแรกที่ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉันมีอายุไม่มากนัก
พื้นความรู้ฉันมีอยู่น้อยจนไม่อาจเข้าใจในโกอานบางอันได้
เช่นโกอานที่ว่า
“เสียงของการตบมือข้างเดียวเป็นอย่างไร ?”
ใจฉันคิดในตอนนั้นว่า เอามือเดียวตีไปที่อากาศ
แล้วมันจะมีเสียงอะไร หรือว่าต้องเอามือตีไปที่พื้น
นั่นย่อมไม่ใช่คำตอบ....
.........................................
ปล่อยวางอะไร ? .....
ปล่อยวางตัวตน
ตัวตนอะไร ? ….
ตัวตนที่ยึดติด
ยึดติดสิ่งใด ? ......
“เสียงของการตบมือข้างเดียว”
……………………………………………..
นี่คือคำสอนเซนที่ฉันชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง...
ครั้งหนึ่งพระภิกษุทันซันและเอกิโด
ร่วมเดินทางไปตามถนนซึ่งเป็นโคลนตมสายหนึ่ง
ขณะนั้นฝนกำลังตกหนัก จึงทำให้มีน้ำเจิ่งไปทั่วถนน
เมื่อทั้งสององค์เดินมาถึงหัวโค้งถนน
ก็พบสาวสวยคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเสื้อกิโมโนไหมที่มีสายคาดเป็นแพรเนื้อดี
เธอไม่อาจเดินข้ามห้วงน้ำที่กำลังเจิ่งถนนตอนนั้นได้
(เพราะเกรงเสื้ออันสวยงามของเธอจะเปียกเปื้อน)
ทันใดนั้น...พระภิกษุทันซันได้เดินเข้าไปหาหญิงสาวผู้นั้น
และกล่าวว่า
“มานี่ซิเธอ ฉันจะช่วย”
ว่าแล้วก็อุ้มหญิงสาวบุกข้ามห้วงน้ำนั้นไป
พระภิกษุเอกิโด ได้มองดูการกระทำของเพื่อนร่วมทางอย่างเงียบๆ
และมิได้ปริปากพูดอะไรขึ้นอีกเลย
ทั้งสองรูปเดินทางต่อไปจนค่ำ และเข้าอาศัยอยู่ในวักแห่งหนึ่ง
เมื่อต่างองค์ได้จัดที่ทางเรียบร้อยแล้ว
เอกิโดจึงได้กล่าวขึ้นด้วยอดรนทนไม่ได้อีกต่อไปว่า
“นี่แน่ะท่าน ในฐานะที่เราเป็นสมณะ ไม่ควรบังอาจเข้าไปใกล้สตรี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่สาวและสวย
เพราะมันเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์อย่างร้ายกาจ
เมื่อกลางวันนี้ทำไมท่านจึงเข้าไปอุ้มหญิงสาวผู้นั้น”
“ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งแต่กลางวันแล้ว” พระภิกษุทันซันตอบ
“ท่านยังอุ้มเธออยู่อีกหรือ”
...............................................
เซนคืออะไร ?
อะไรคือเซน ?
ถ้าเธอเข้าใจธรรมชาติ
เธอจะเข้าใจเซน
..............................................
ก่อนศึกษาเซน
ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ
เมื่อศึกษาเซน
ภูเขาไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ
เมื่อบรรลุธรรม
ภูเขาคือภูเขา แม่น้ำคือแม่น้ำ
เมฆา...เธออาจคิดนึกอยู่ในใจ
ว่าที่แท้เซน ก็คือ พวกเล่นลิ้นและประดิษฐ์ถ้อยคำอันชวนน่าเวียนหัว
แต่ฉันกลับคิดว่านี่คือหนึ่งในคำสอนอันเรียบง่ายและปฏิบัติตามได้ไม่ยาก
เพราะไม่มีพิธีกรรมรุ่มร่าม ไม่มีนรกมาขู่ ไม่มีสวรรค์มาล่อ
ไม่ต้องบูชารูปเคารพหรือเมามัวยึดติดในวัตถุเครื่องรางของขลังแต่อย่างใด
เซนคือการเรียนรู้ในทุกขณะจิต
คือการใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ
อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง
ธรรมะอันเรียบง่ายที่สุด
อาจสรุปผ่านถ้อยคำของอาจารย์เซนชาวญี่ปุ่น
ด้วยประโยคที่ว่า
“ปาฏิหาริย์ของฉันมีดังนี้ คือ
เมื่อฉันรู้สึกหิว ฉันก็กิน
และเมื่อรู้สึกกระหาย ฉันก็ดื่ม”
...........................................
เมื่ออ่านจดหมายมาถึงตรงนี้
เมฆาตอบได้หรือยังว่า
“เสียงของการตบมือข้างเดียวเป็นอย่างไร ?”
ในโศลกธรรมนี้...อาจารย์เซนตอบว่า
“ฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรอีกแล้ว...
ดังนั้น...ฉันจึงได้ยินเสียงที่ไร้เสียงได้ในที่สุด”
…………………………………………..
ฉันหาคำตอบมาชั่วชีวิต
ว่าฉันเกิดมาเพื่ออะไร ?
และตายแล้วไปไหน ?
ฉันครุ่นคิดถึงคำถามนี้มิวางวาย
ค้นเค้นคำตอบในทุกขณะจิตด้วยความสงสัย
วันหนึ่งฉันวางความสงสัยนี้ลง
เพ่งมองทิวเขาที่อยู่เบื้องหน้า
แล้ว วินาทีนั้น “ตัวตนของฉัน”
ก็หายไป......
.............................................
เมฆา...ขณะนี้เวลาหกโมงสิบห้านาทีแล้ว
ข้างนอกห้องฟ้ายังคงมืดอยู่
จดหมายและหนังสือคงเดินทางไปหาเธอในเร็ววัน
โปรดอ่านอย่างช้าๆ แล้วเธอจะพบว่าบางที
สิ่งที่เราเที่ยวตามหาหรือเสาะแสวงหา
แท้จริงแล้วเธอไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องออกเดินทางแต่อย่างใด
เธอค้นพบความจริงแห่งชีวิตนี้ได้
ในทุกขณะจิต ในทุกสถานที่ ในทุกโมงยาม
เพียงแต่ นิ่ง เข้าใจอย่างถ่องแท้ และรู้จักปล่อยวาง
มันไม่ใช่สาระอันใดที่ต้องไปครุ่นคิดว่าเราจะปล่อยวางอย่างเซน
อย่างพุทธ อย่างคริสต์ หรืออย่างอิสลาม
“ความว่าง” เดียว ที่โลกนี้มีอยู่
คือ ความว่างอันเป็นหนึ่งเดียว
เป็นความว่างที่เราไม่จำเป็นต้องพูดถึง ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้
ไม่ต้องไปค้นหา หลับตาภาวนาสร้างขึ้นก็ไม่ได้
อย่าถามฉันว่า “เราจะปล่อยวางความว่างแห่งชีวิตได้อย่างไร ?”
“เมื่อว่าง แล้วยังต้องปล่อยวางอะไรอีก”
นี่คือคำตอบสุดท้ายของฉัน
สุจริตใจ
สิงห์โตหมอบ
เชียงใหม่ , จดหมายไม่ลงวันที่
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่