:: กะก๋าแนะนำหนังสือ - พุทธธรรม ::
:: กะก๋าแนะนำหนังสือ - พุทธธรรม ::
โดย : พระพรหมคุณาภรณ์
1. ผมซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะนั่งคุยกับลุงจินดา
ลุงจินดาเป็นคนขับรถตุ๊กตุ๊กที่พานักท่องเที่ยวต่างชาติ
มาซื้อของที่ร้านของผมเป็นประจำ
ตัวแกศึกษาธรรมะด้วยตัวเอง เมื่อลุงรู้ว่าผมสนใจเรื่องราวธรรมะ
แกจึงบอกแกมขอร้องให้ผมไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน
ส่วนตัวลุงจินดาบอกว่าอ่านพุทธธรรมจบไปแล้ว 4 รอบ
รอบหนึ่งใช้เวลาอ่านประมาณ 3 เดือน
2. ผมบอกมาดามและน้องสาวว่าในวันเกิดของผม
ขอให้ซื้อหนังสือพุทธธรรมมาคนละเล่ม หนึ่งเล่มผมจะอ่านเอง
และอีกเล่ม...จะนำไปบริจาค
3. หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงและเขียนโดยพระพรหมคุณาภรณ์
4. หนังสือมีความหนา 8 เซนติเมตรและหนักเป็นกิโล...
5. เป็นหนังสือเล่มหนาที่สุดในชีวิตเท่าที่ผมเคยอ่านมา
จำนวนหน้าหน้าทั้งหมดคือ 1145 หน้า
6. ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ในวันที่ 13 กันยายน 2554
และอ่านจบในวันที่ 26 ตุลาคม 2554
เป็นหนังสือที่ผมใช้เวลาอ่านนานมากที่สุด
กว่าจะจบเล่มใช้เวลาอ่าน 43 วัน
แต่ผมไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทุกวัน
ช่วงที่ลูกและภรรยาป่วย วันที่งานยุ่ง
ผมก็ไม่ได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเลย
7. หนังสือพุทธธรรมในความรู้สึกของผม คือ หนัก หนา
และอ่านยากมาก
8. แต่ผมแน่ใจมากว่าท่านพระพรหมคุณาภรณ์เป็นปราชญ์แห่งสยามโดยแท้
หนังสือเล่มนี้ต้องค้นคว้า เรียบเรียง อ้างอิงจากคัมภีร์โบราณ
จากตำราภาษาต่างประเทศจำนวนมากมาย รวมทั้งพระไตรปิฏก
ซึ่งท่านพระพรหมคุณาภรณ์ได้เรียบเรียงเนื้อหาหลักธรรม
อย่างละเอียดลออและถี่ถ้วน
9. ผมไม่ได้อ่านทุกตัวอักษรในหนังสือเล่มนี้
หลายตอนอ่านข้าม หลายประโยคที่อ่าน
ยอมรับตนเองเลยว่า ไม่เข้าใจในเนื้อหาที่ท่านเขียน
เนื้อความ ตัวอักษรไม่ซึมเข้าสมองอย่างที่ควรจะรู้และเข้าใจ
10. บางตอนผมรู้สึกว่าท่านอธิบายละเอียดมาก
มากจนผมยิ่งอ่านยิ่งงง
เช่น ตอนที่ท่านอธิบายเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
11. หนังสือพุทธธรรมสำหรับผม
จึงเป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของหลักธรรม หรือ สัจธรรม
และอีกส่วนของเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของการนำหลักธรรมไปใช้
จะเรียกว่า การศึกษาเรื่องของจริยธรรมก็ได้
12. มีหลายข้อความที่ผมชอบมาก
และได้นำมาลงไว้ในบล็อกนี้แล้ว
13. และคำที่ผมชอบมากจากหนังสือเล่มนี้คือคำว่า
“ปรโตโฆสะ” และคำว่า “โยนิโสมนสิการ”
พระพรหมคุณาภรณ์ท่านแปลความหมายออกมาละเอียด
แต่ผมเข้าใจง่ายๆของผมว่า
จะเข้าใจในหลักการเกิดดับของสรรพสิ่ง
หรือปฏิจจสมุปบาทได้
ต้องใช้ทั้ง "ปรโตโฆสะ" และคำว่า "โยนิโสมนสิการ"
นั่นคือ การเรียนรู้จากนอกตัว หรือ ปรโตโฆสะ
อันหมายถึงการเรียนรู้จากนักปราชญ์ ผู้รู้ คัมภีร์ ตำรา คำสอน ฯลฯ
แต่เมื่อรับความรู้นั้นแล้ว ต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง
ด้วยความคิด ความเห็นที่ถูกต้องและแยบคาย
หรือที่เราเรียกว่า คิดอย่าง โยนิโสมนสิการ
หรือการเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวตนของเรานั่นเอง
14. ผมแอบสงสัยนิดๆในใจว่าหนังสือเล่มหนาและหนักในเนื้อหาสาระเล่มนี้
เหมาะกับคนอ่านประเภทใด จะมีสักกี่คนที่อ่านจบ....
หรืออ่านได้ครบถ้วนทุกตัวอักษร
15. หนังสือพุทธธรรมในความรู้สึกของผม
เป็นเสมือน “พุทธะบรรพต” หรือ “ภูเขาแห่งธรรม”
ที่ยากจะปีนป่ายขึ้นไปจนถึงยอดเขาได้
แต่ถ้าใครอดทนอ่านและพยายามทำความเข้าใจในเนื้อความได้
ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ได้ปีนป่ายไปจนถึงยอดเขา
เพื่อที่จะได้พบว่า ณ ที่นั้นลมเย็นและวิวทิวทัศน์ตระการตา
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่