:: กะก๋าแนะนำนิตยสาร - ค.คน ตื่นรู้สู่ปัญญาที่แท้จริง ::
:: กะก๋าแนะนำนิตยสาร - ค.คน
ตื่นรู้สู่ปัญญาที่แท้จริง ::
แนะนำโดย : กะว่าก๋า
“ตื่น” และ “รู้”
เราจะรู้ไม่ได้
หากปัญญาเรายังหลับใหล
“ความรู้” คือสิ่งใด ?
ความรู้มิใช่การท่องจำ การจดจำ
หรือเป็นเพียงการสืบเนื่องส่งต่อความรู้ผ่านการท่องจำ
แม้ “ความจำ” จะจำเป็นในการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้
แต่เมื่อใดที่เราเอาแต่ท่องจำซากความรู้เหล่านั้น
จำเพื่อสอบ สอบแล้วลืม
“ความรู้” ที่เกิดขึ้นจากระบบการท่องจำ
จะกลายเป็นตอไม้ที่ตายซาก
มันไม่อาจงอกงามและเจริญเติบโตได้อีก
“ความรู้” ที่ไม่มีการพัฒนา
จะไม่แตกหน่อออกยอด ผลิดอกใบที่สวยงามออกมา
ที่สุดแล้วมันไม่อาจเติบโต
และต่อยอดความรู้ได้อีก.....
เรารักลูกของเรา
เราคาดหวังสิ่งต่างๆมากมายกับลูกของเรา
แต่เคยถามลูกของเราบ้างหรือเปล่า
ว่าเขาอยากเป็นในสิ่งที่เราคาดหวังหรือไม่ ?
ในขณะที่เราพยายามเลือก “สิ่งที่ดีที่สุด” ให้กับลูกของเรา
เราแน่ใจแล้วหรือยังว่านั่นเป็น “ทางเลือกที่ดีที่สุด” สำหรับตัวลูกเองด้วย
บ่อยครั้ง...
ที่พ่อแม่ก็เผลอเรอ
และทำร้ายลูกของตนเอง
ในนามของความรักและความปรารถนาดี
การศึกษาของเราพยายามทำให้เด็กนักเรียนกลายเป็น “สินค้า”
สินค้าที่ไร้ตำหนิ และมีคุณภาพมาตราฐานเดียวกัน
การศึกษาของเราคัดสินค้า “เกรดดี” เอาไว้
มุ่งสร้างความเก่งกาจฉลาดเฉลียว
ก่อนจะส่งเด็กเข้าสู่สนามสอบที่ใหญ่กว่า
แล้ววัดผลคุณภาพการศึกษา
ด้วยจำนวนเด็กที่สอบเข้าเรียนต่อในระดับสูง
ว่าใครจะสร้างและส่งเด็กที่สอบเข้าได้มากกว่ากัน
ส่วนสินค้า “มีตำหนิ” จะถูกเชือนแช
และถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนระดับต่ำกว่า
ไปพบกับระบบการศึกษาที่ด้อยคุณภาพกว่า
เข้มข้นน้อยกว่า
และโอกาสในชีวิตก็ลดน้อยถอยลงไป.....
“โอกาสทางการศึกษา”
ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะต้องเก่งเท่ากัน
แต่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กทุกคน
ได้มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่เท่าเทียมกัน
จะโดยการสร้างแหล่งเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนให้ดีและมีคุณภาพ
เช่น พิพิธภัณฑ์ หอสมุดประจำเมือง สนามกีฬา
หอศิลป์ หอวัฒนธรรม ไปจนถึง สถาบันสอนดนตรี ฯลฯ
เหมือนคนรวยและคนจน
ย่อมมีสิทธิ์ในการสูดอากาศ หรือดื่มน้ำอย่างเท่าเทียมกัน
ทุกวันนี้พ่อแม่เดือดร้อนในการดิ้นรน
ต้องส่งลูกเรียนเข้าโรงเรียนดังๆ
เพราะเชื่อว่าหากลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง
อนาคตของเด็กจะโชติช่วงชัชวาล
พ่อแม่บางคนจึงต้องยอมจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเป็นแสนเป็นล้าน
เพื่อให้ลูกได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาชื่อดัง
จนทุกวันนี้เราหลงลืมไปแล้วว่า
“การศึกษาที่แท้จริง” คืออะไร ?
เราศึกษาเรียนรู้ไปเพื่ออะไร ?
การตื่นรู้ คือ การค้นพบตัวเอง
การรู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่อสิ่งใด
ทำอะไรได้ ถนัดในสิ่งใด
และจะทำสิ่งที่เราชอบ เรารัก เราถนัดได้อย่างไร
ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับตัวเองและผู้อื่น
การศึกษาที่แท้จริง คือ การรู้จักตัวเอง
รู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง
ไม่ว่าจะเรียนอะไร
วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะศาสตร์
มนุษย์ศาสตร์ แพทย์ศาสตร์
ฯลฯ
ทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชา
ล้วนสอนให้ผู้เรียน
คิดอย่างเป็นระบบ รู้ที่ไปที่มาในการแสวงหาคำตอบ
โจทย์ทุกข้อที่เราเรียน
คือ การจำลองรูปแบบการแก้ปัญหาในชีวิต
ทุกๆการเรียนรู้
คือการสั่งสมประสบการณ์ การลองผิดลองถูก
การค้นหาแนวทางเพื่อไปสู่การค้นพบคำตอบ
ค้นพบคำตอบด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
ไม่ใช่โดยบังเอิญ
โจทย์ในชีวิตของเรายากขึ้นๆเรื่อยๆ
เหมือนระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
ยิ่งเรียนสูง ยิ่งย่อมต้องเรียนรู้อย่างเจาะลึกและถึงแก่นมากขึ้น
รู้อย่างถ่องแท้มากขึ้น
การเรียนในระดับปริญญาเอกจึงไม่ได้หมายความว่า
เราได้กลายเป็นคนที่ฉลาดกว่าคนอื่น
แต่หมายถึงเราได้รู้ในเรื่องๆหนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง
รู้ในสิ่งที่คนอื่นยังไม่รู้
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ในทุกๆเรื่องบนโลกใบนี้
การศึกษา จึงเป็นเครื่องมือในการทำให้เราตื่นรู้
ตื่นรู้ที่จะรู้จักตัวเอง
กล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง
“ความชำนาญ” กับ “ความเชี่ยวชาญ” จึงต่างกันอยู่ไม่น้อย
คนที่ชำนาญเปรียบเหมือนคนที่ลวกก๋วยเตี๋ยวทุกวัน
จะรู้ได้ด้วยความเคยชินว่าลวกนานแค่ไหนเส้นถึงจะนุ่มเหนียวอร่อย
แต่คนที่เชี่ยวชาญจะมองผ่านเส้นก๋วยเตี๋ยว
มองลึกเข้าไปจนเห็นส่วนผสมทั้งหมดที่ก่อให้เกิดเส้นก๋วยเตี๋ยว
รู้ลึกไปถึงอุณหภูมิที่ดีที่สุดในการลวกเส้น
รู้แจ้งไปจนถึงว่าอุปกรณ์แบบใดที่จะใช้
เพื่อให้ได้เส้นก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยที่สุด ดีที่สุดออกมา
“การศึกษา” ในทุกวันนี้ไม่ได้สร้างผู้เชี่ยวชาญ
บางแห่งไม่ได้สร้างแม้แต่ผู้ชำนาญ
เพราะเรามัวไปมุ่งสร้างแต่ “สินค้าไร้ตำหนิ”
ที่มีเพียงรูปลักษณ์สวยงามแบบฉาบฉวย
แต่ข้างในกลวงเปล่าไม่มีคุณภาพ
การศึกษาที่ไม่ได้พัฒนาคุณภาพความคิดของผู้เรียน
ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างฟันเฟืองที่ไม่ได้สัดส่วน
นำไปประกอบกับเครื่องยนต์กลไกใดใดต่อ
ก็ไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพอยู่วันยังค่ำนั่นเอง
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่