บทความทั่วไป

:: ก๋าราณีตอบคำถามพี่พจ ::

กะว่าก๋า



พูดเรื่องพนักงาน....

พี่ก็คล้ายๆกันแหละ แต่ส่วนใหญ่พี่จะออกแนวบ่นๆๆมากกว่า 555
เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยบ่นแล้วล่ะ
บางที เปลี่ยนที่ตัวเราง่ายกว่าเปลี่ยนคนอื่นเยอะ

เดี๋ยวนี้แทบจะไม่อารมณ์เสียกับใครเลย

เหลือแต่ลูกนี่แหละ ไม่รู้เป็นไง พยาย้าม พยายามจะใจเย็น
แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ
ปรี๊ดแตกใส่ลูกประจำเลย
แทนที่จะเป็นตัวอย่างดีๆให้ลูก
ดันกลายเป็นว่า ส่งต่อนิสัยเสียๆให้ลูกแทนซะงั้น เฮ้อ..

อีชั้นควรจะทำยังไงดีคะคุณ นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบนะเคอะ

 

 



คำถามโดย : พจมารร้าย









*********************************


 

 



สวัสดีครับพี่พจ


คำถามของพี่ทำให้ผมนึกถึงเรื่องของเด็กหนุ่มคนหนึ่งครับ....


เมื่อหลายปีก่อน

เด็กหนุ่มคนนี้เพิ่งจบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศ
เขามีความมุ่งมั่นใฝ่ฝันในชีวิตหลายอย่างที่ตั้งใจไว้

หนึ่งในนั้นคือ การเป็นครูอย่างที่หวังไว้
อีกหนึ่งคือการเป็นสถาปนิก อย่างที่ตัวเองได้ร่ำเรียนวิชาความรู้มาถึง 7 ปีเต็ม

เขาทำงานเป็นสถาปนิกได้เดือนเดียว
พ่อของเขาเรียกตัวให้มาช่วยงานที่ร้าน
จากครู สถาปนิก เขาต้องกลายมาเป็นพ่อค้าแบบใจจำยอม....

เขาเริ่มสับสน.....






.....................................

 

 



การทำงานไม่ใช่เรื่องยาก
แต่การทำงานกับคนต่างหากที่เป็นเรื่องยาก

การบริหารงานไม่ใช่เรื่องยาก
แต่การบริหารความรู้สึกของคนทำงานนั่นต่างหากที่เป็นที่สุดของการทำงาน

เด็กหนุ่มเริ่มท้อ เหนื่อยหน่าย เบื่อ เซ็ง
เมื่อพบว่างานที่เขาทำอยู่ ไม่สนุก น่าเบื่อ เจอแต่คนหลากหลายประเภท
คนดี คนเลว คนฉกฉวย คนเอาเปรียบ
เล่ห์เหลี่ยมคูทางการค้า นั่นเป็นตำรานอกมหาวิทยาลัยที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต

เขา...ผู้ซึ่งเคยเชื่อมั่นในความถูกต้องของตัวเองมาตลอด
กลับต้องได้รับบทเรียนมากมายจากคนที่มีอำนาจมากกว่า

อีกทั้งยังความคาดหวังที่มีต่อลูกน้องตัวเอง
ไม่มีใครทำได้อย่างใจเขาเลย
เขากลายเป็นคนหงุดหงิด เจ้าอารมณ์ และฉุนเฉียวง่าย
เครียด โกรธรุนแรง และตั้งใจทำงานมากจนไม่คิดถึงเรื่องการพักผ่อนใดใด

ชีวิตมีแต่งาน งาน งาน งาน และงาน





.......................................

 

 

 



แต่ปัญหาที่ทำร้ายเขามากที่สุด
คือ การทำงานกับพ่อของตัวเอง
พ่อของเขาจบ ป.4 --- เป็นเถ้าแก่มาตั้งแต่อายุ 16 ปี
แน่นอน....เขารู้ดีว่าพ่อมีประสบการณ์มากกว่า
แต่เขาเองก็เชื่อมั่นในสิ่งตัวเองรู้เช่นกัน
ร่องรอยของความแตกต่างระหว่าง อายุ ความคิด และความเชื่อ
เริ่มก่อตัวตั้งเค้ารุนแรงขึ้นในใจ

หลายครั้งที่เขาคิดว่าเขาทำถูก
แต่กลับถูกพ่อด่าอย่างรุนแรง
คำว่า “พ่อ” ในธรรมเนียมจีน นั่นหมายความว่า
ทุกสิ่งที่พ่อคิด พ่อเชื่อ พ่อพูด --- มันจะต้อง “ถูก” อย่างเดียวเท่านั้น.....
ทุกคนในบ้านและร้านมีหน้าที่ปฏิบัติตามและรับฟัง
แม้จะรู้ดีว่าพ่อเป็นคนปากร้ายแต่ใจดี

แต่เมื่อสะสมมากเข้า....

วันหนึ่ง...มันระเบิดออกมา
กลายเป็นอารมณ์อันคับแค้นใจ น้อยใจ เบื่อ หน่าย เซ็ง ฯลฯ

วันนั้นเป็นวันที่เขาจำได้ดีว่า เขาต่อยกำแพงอย่างแรงจนมือแทบหัก
เตะเก้าอี้ล้มระเนระนาด ร้องไห้เหมือนคนบ้า
จนพี่ชายต้องจับเขาขึ้นรถ
ขับรถจากเชียงใหม่ไปลำพูน
เขาร้อง ร้อง ร้อง ร้อง และร้องไห้โดยไม่พูดอะไร

รอจนสงบลง.....พี่ชายเขาจึงชวนเขาคุย
เด็กหนุ่มคนนั้นยังสะอึกสะอื้นตลอดเวลา.....


ในที่สุดเมื่อพี่ชายตีรถกลับมาเชียงใหม่
ประโยคนั้นดังก้องในหูของเขา...


“พ่อเขาเป็นอย่างนี้มาทั้งชีวิต มึงจะไปเปลี่ยนเค้าได้ยังไง”






........................................




หลายปีต่อมากับการทำงานในร้าน
เด็กหนุ่มเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน
เขาเริ่มเข้าใจพ่อมากขึ้น
เขารู้และเข้าใจว่าพ่อโตมาแบบต้องปากกัดตีนถีบ
ต้องสู้ชีวิต ต้องใช้บาดแผลริ้วรอยในชีวิตมากมายเพื่อแลกกับประสบการณ์

พ่อเป็นปลาที่เติบโตในสระกว้างและน้ำเชี่ยว
ส่วนเขาถูกเลี้ยงดูแบบประคบประหงมแบบปลาในกระชัง

เมื่อมองไปที่จุดสุดท้ายกับทุกสิ่งที่พ่อทำ
เขารู้ว่าพ่อทำทุกอย่างก็เพื่อทุกคนในครอบครัว

“ความรัก” ที่ไม่เคยแสดงออกด้วยถ้อยคำ
ทำให้เขารู้ว่าพ่อตัวเองเก่งแค่ไหนที่จบเพียง ป.4
แต่สามารถส่งเสียลูก 4 คนให้จบทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท

การทำงานหนักตลอดชีวิตก็เพื่อหวังว่าลูกและเมียจะสุขสบายในบั้นปลายของชีวิต






..............................................


 

 



เด็กหนุ่มต้องใช้เวลาหลายปี
กว่าจะซึมซับความรู้สึกตรงนี้....
กว่าจะรู้ว่าพ่อตัวเองแม้จะเป็นคนเจ้าอารมณ์ แต่ไม่เคยเอาเปรียบใคร
กว่าจะรู้ว่าในสนามการค้า เค้าไม่ได้สู้กันด้วย “ระดับการศึกษา”
แต่สู้กันด้วย “ไหวพริบและการตัดสินใจ”

ที่เขาไม่ชอบไม่ใช่ “งาน”
ไม่ใช่ “พ่อ”
แต่เขาเกลียดตัวเอง....เขาไม่เข้าใจตัวเอง



เขามัวแต่เสียเวลาหลายปีตั้งคำถามกับชีวิตว่า

“ทำไมพ่อไม่เคยเข้าใจเขาบ้าง ?”

แทนที่จะตั้งคำถามว่า

“แล้วเขาเคยเข้าใจพ่อบ้างหรือเปล่า ?”


ในขณะที่เขาตั้งแง่และคาดหวังสูงกับพนักงาน
เขาเคยถามตัวเองบ้างไหมว่าพนักงานต้องการอะไรจากเขาบ้าง










....................................................



 

 


พี่พจครับ


ผมไม่เคยกังขาต่อความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกเลย
แต่ผมคิดว่ามีลูกไม่กี่คนที่มองเห็นความดีตรงนี้….

ลูกไม่ค่อยนึกถึงความห่วงใยที่ปนเปื้อนอยู่ในถ้อยคำบ่นด่า

ลูกไม่ค่อยใส่ใจความหวังดี ที่อยู่ในคราบของความเข้มงวด

ลูกมองเลยผ่านความรัก เพราะอยากเห็นแต่สิ่งที่ตัวเองต้องการ

กว่าจะเข้าใจ กว่าจะรู้ความหวังดีนี้ บางคนต้องใช้เวลาเกือบค่อนชีวิต
เพื่อให้อภัยในสิ่งที่พ่อแม่เคยทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ
หรือคล้ายสร้างรอยบาดแผลเจ็บช้ำไว้ในความรู้สึกจนยากที่จะให้อภัยและลืมเลือน









.............................


 

 

 



วันนี้ผมกำลังจะเป็นพ่อคนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ผมยังไม่รู้ว่าผมจะเลี้ยงดูลูกของผมแบบไหน

แต่ผมจะบอกเค้า-สอนเค้า....
ว่าจงอย่าเป็นแบบ “เด็กหนุ่ม” คนนี้

จงมองให้เห็นความรัก ความปรารถนาดีของพ่อแม่ให้มากเข้าไว้
ทำดีที่สุดต่อบุพการี เพราะท่านแก่ตัวร่วงโรยลงไปทุกที
อะไรที่ทำให้ท่านมีความสุขจงทำอย่างไม่ต้องรั้งรอ
ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาอาหารที่ดีที่สุดโลกไปวางไว้หน้าโลง ในวันที่ท่านไม่อยู่
ไม่มีประโยชน์ที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ราคาแพงไปให้ ในวันที่ชีวิตของท่านไม่ต้องการความสวยงาม


จงเป็น “ลูกที่ดี” และเรียนรู้ที่เข้าใจคนอื่น.....

ผมไม่รู้ลูกผมจะเป็นคนรวยหรือจะคนเก่งหรือไม่
แต่ผมรู้ว่าลูกผมจะเป็นคนดี

และที่สำคัญ.....
ลูกผมไม่ควรเดินตามรอยเท้าของเด็กหนุ่มคนนั้น....
เด็กหนุ่มผู้ต้องการให้คนทั้งโลกมาเข้าใจตัวเอง
โดยไม่เคยคิดเข้าใจคนอื่นบ้าง......

ผมรู้จักเด็กหนุ่มคนนั้นดี....
เพราะเด็กหนุ่มคนนั้น คือ  ตัวผมเอง ครับ

 

 

กล่องความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่