:: ก๋าราณีตอบคำถามน้องโย ::
เฮียตอบคำถามผมหน่อยครับว่า
1. เฮียคิดยังไงกับคำว่า "ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่" ครับ .......
ซึ่งมันเป็นประโยคที่ขัดกับหลักของวิทยาศาสตร์มักจะพูดว่า
"ไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์"
2. แต่ในฐานะที่ผมยึดหลักทางสายกลางมาโดยตลอด
ผมจึงจะไม่เชื่อทั้งสองประโยค 100% .....
ผมคิดว่ามันมีเขตแดนบางอย่างที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง
และมันมีเขตแดนอีกอย่างที่ความเชื่อยังกั้นวิทยาศาสตร์ไม่ให้เข้าไปอธิบายความเป็นไปของมันอยู่ .....
ซึ่งผมว่ามันไม่ผิดทั้งคู่ ........
เพราะถ้าให้วิทยาศาสตร์ไปพิสูจน์ว่าคนตายแล้วจะต้องขึ้นสวรรค์ลงนรกหรือผีมีจริงหรือไม่ก็คงลำบาก
(พิสูจน์ในที่นี้คือสามารถตีพิมพ์ผมงานวิจัยออกมาได้
ตามหลักการทดลองที่ถูกต้อง) .......
แต่ถ้าจะให้วิทยาศาสตร์ไปอธิบายว่า
คุณไม่ต้องนับถือศาสนาหรอก
มนุษย์เป็นเพียงกลุ่มของอินทรีย์สารเท่านั้น ก็เป็นไปไม่ได้
ขนาดนักวิทยาศาสตร์ยังนับถือศาสนาเลย ..........
แล้วงี้เราจะเอาไงดีล่ะครับ ทางสายกลางอยู่ตรงไหน
เพราะผมเห็นทั้งสองฝ่ายปะทะกันทางความคิดอยู่เนือง ๆ
3. ในฐานะที่ผมเป็นคนพุทธ และเฮียก็เป็นคนพุทธ .......
เฮียเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า
"พุทธศาสนาคือวิทยาศาสตร์" ล่ะครับ .......
พูดด้วยความเคารพคือ คำนี้คือหนึ่งในพัฒนาการของศาสนาหรือเปล่า
ที่จะรวมประโยคที่ว่า "ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่"
เข้ากับ "ไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์"
4. แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่ง .... คนพุทธนี่แหละครับ ....
ที่บอกว่า เราไม่ควรเอา "ศาสนา" มาเกี่ยวกับ "วิทยาศาสตร์" หรอก ......
เฮียเห็นด้วยหรือเปล่าครับ?
ถ้าเห็นด้วย เหตุผลคืออะไรเหรอครับ?
เพราะทั้งสองสิ่งมันก็คือการ "ค้นหาความจริง" เช่นกันมิใช่หรือ ......
แต่ถ้าเห็นด้วย ทำไมหลาย ๆ อย่างในศาสนา
กลับบอกว่า "วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้"
ขอบคุณนะครับเฮีย
ปล. นี่ไม่ได้ถามแกล้งนะครับ ถามเพราะสงสัยจริง ๆ .... เหอ ๆ
คำถามโดย : Analayo
*****************************
สวัสดีครับพี่โย
ผมไม่เป็นพุทธครับพี่โย
แม้ว่าในช่องว่างที่เติม.....ศาสนาของผม
จะเขียนไว้ว่า “ศาสนาพุทธ” ก็ตามที....
หลายปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นพุทธ เป็นคริสต์
เป็นมุสลิม หรือเป็นอะไรเลย....
แล้วผมเป็นอะไร ?
ผมเป็น “ความว่าง” ครับพี่โย....
“โลก” ในความคิดของผม
มี 2 โลกที่ซ้อนทับกันอยู่ โลกที่ไม่อาจแบ่งแยกได้
คือ
1. โลกกุตระธรรม
2. โลกธรรม
ความแตกต่างของสองโลกนี้ ผมอยากอธิบายด้วยภาพครับ
ดังนั้นคำถามที่ว่า.... “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” หรือ “ไม่เชื่อต้องพิสูจน์”
ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก
ความเชื่อแบบใดถูก แบบใดผิด
เพราะ....ความจริงก็คือ มนุษย์เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนรู้
ยิ่งรู้มาก ยิ่งเชื่อว่าตัวเองเป็นผู้รู้
แต่ถามว่า “ความจริง” ในโลกนี้มีมากมายมหาศาลที่เรา “ไม่รู้”
และไม่มีวันที่จะเข้าถึง “ความจริงทั้งหมด” นี้ได้
เช่น มีใครรู้บ้างไหมว่าโลกเราเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่
แล้วจะแตกดับไปในอีกเมื่อไหร่ ฯลฯ
นี่เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามตั้งสมมติฐานนะครับ
แต่ยังไม่มีใครหาคำตอบได้
คำถามอาจไกลตัวเกินไป
ถามว่าทำไมร่างกายคนถึงมีลักษณะเป็นแบบนี้
ทำไมคนต้องมี 2 ตา 2 หู 1 ปาก
ทำไมต้องมีปอด ตับ และหัวใจ
ทำไมถึงมีวงจรชีวิตแบบนี้ ทำไมถึงเกิดด้วยวิธีนี้ และทำไมเวลาตายถึงมีสภาพแบบนี้
เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ค้างคาใจมนุษย์มาโดยตลอด
เราติดกับดักความรู้ของตัวเอง
พอเราอ่านหนังสือมากกว่าคนอื่น เราไปยึดถือว่าเรารู้มากกว่า
ทั้งที่ความจริงแล้ว ในโลกนี้มีหนังสือกี่ล้านเล่มที่เรายังไม่ได้อ่าน
มีวิชาความรู้ มีศาสตร์อีกกี่แขนงที่เราไม่มีวันเรียนรู้ได้อย่างจบสิ้น
“ไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี”
สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่
คำว่า “งมงาย” ของใครบางคน
อาจหมายถึง “ศรัทธา” ของใครอีกคน
คำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของใครอีกคน
อาจกลายเป็นแค่ “มายากลหลอกคนโง่” ของใครหลายคน
.....................................................
ทางสายกลางที่พี่โยถามผม....
มันคือ การเลือกเส้นทางของการไปถึง…..
ไปถึงซึ่งอะไร ?
ไปถึงซึ่ง “ความเชื่อ” ของตัวเราเอง
มีวิธีหลากหลายเส้นทางที่จะเดินทางจากกรุงเทพมาเชียงใหม่
ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถทัวร์
ปั่นจักรยาน หรือแม้แต่เดิน
ไม่มีวิธีไหนผิด มันขึ้นอยู่กับ “จริต” ของคน
แต่ที่แน่ๆ เราต่างไปถึงซึ่งความเชื่อที่ตัวเองเชื่อเสมอ
ทางสายกลางของเราต่างไม่เท่ากัน
ปฏิบัติเท่านี้ สำหรับเรา---เราว่าหนัก
แต่สำหรับคนที่เคร่งครัดกลับว่าเหยาะแหยะเหลาะแหละ
เหมือนคนไม่กินเผ็ด ทานน้ำพริกว่าไม่อร่อย
แต่คนทานเผ็ด พริก 10 เม็ดยังว่าไม่เผ็ด
...........................................
“พุทธศาสนาคือวิทยาศาสตร์”
ถ้าเราไม่ได้พูดกันแบบเท่ๆ หรือสร้างภาพ
เราควรถามตัวเองอีกครั้งและอีกครั้งว่า
ทำไม “จตุคามรามเทพ” ถึงแทรกผ่านเข้ามาสู่การยึดถือของคนทั้งชาติได้
ก่อนที่จะโกยเงินจากความงมงายของคน
แล้วหายมลายตัวไปอย่างรวดเร็ว
ทำไมเรายังเห็นพระสงฆ์ทำท่าทางประหลาดๆเพื่อปลุกเสกวัตถุของขลัง
ในหน้าหนังสือพิมพ์มีแต่การสร้างวัตถุมงคลมากมายในเม็ดเงินที่มหาศาลแบบชวนขนหัวลุก
ทำไมเรายังเชื่อถือโชคลางและหมอดู ราวกับชีวิตไม่ได้เกิดมาพร้อมความเชื่อมั่นในตัวเอง
ทำไม ?
ทำไมเราจำได้หมดว่าวันไหนเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
แต่เราไม่เคยเรียนรู้หลักธรรมแล้วนำไปปฏิบัติอย่างถ่องแท้ให้ได้สักข้อ
ทำไมเราถึงเบื่อหน่ายหลักธรรม และมองว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง
ทำไมเราไม่เชื่อในเรื่องของการเข้าสู่นิพพาน
และทำไมถึงต้องเชื่อว่ามีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่นิพพานได้
ทำไม ?
วิทยาศาสตร์สอนให้ตั้งสมมติฐานแล้วหาคำตอบ
ด้วยการตั้งคำถามว่า “ทำไมสิ่งนี้จึงเกิด ?”
ไม่ใช่แต่พุทธศาสนาหรอกครับที่เป็นวิทยาศาสตร์
หากมองเข้าไปให้ลึกซึ้งถึงแก่นของคำสอน
ผมเชื่อว่าทุกศาสนาบนโลกนี้ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็น “วิทยาศาสตร์” ทั้งสิ้น
เพราะทุกศาสนาสอนให้เราคิดว่า “คนเราเกิดมาทำไม ?”
และ “ตายแล้วไปไหน ?”
คำว่า “พุทธศาสนิกชน” สำหรับผม
จึงไม่ใช่คนที่ท่องจำแต่ว่า....
พระพุทธ หมายถึง พระพุทธเจ้า
พระธรรม หมายถึง พระไตรปิฏก หรือคัมภีร์คำสอน
พระสงฆ์ หมายถึง คนห่มเหลือง
เพราะ...
พระพุทธของผม คือ จิตใจที่ถึงซึ่งความตื่นรู้ในสภาวะการกำเนิดของตัวเอง
รู้ว่าโลกนี้มีโลกุตระธรรม และมีโลกธรรมที่ซ้อนทับกันอยู่
และแยกแยะได้ว่าโลกไหนอมตะ โลกไหนเสื่อม
พระธรรมของผม คือ จิตใจที่ถึงซึ่งพลังอันไม่จำกัด
เป็นจิตที่เข้าสู้สภาวธรรมอันสูงสุดและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
พระสงฆ์ของผม คือ จิตใจที่ถึงซึ่งความบริสุทธิ์
จิตใจที่อยู่เหนือการเกาะกุมของกิเลสทั้งปวง
พุทธะ หรือ จิตใจอันถึงซึ่งสัจธรรมสูงสุดของธรรมชาตินี่ต่างหาก
ที่เราควรต้องกราบไหว้
และ “สิ่งนี้” มีอยู่แล้ว ในตัวเราทุกคน
“สิ่งนี้” อันประกอบไปด้วยความรู้แจ้ง พลัง และความบริสุทธิ์
“สิ่งนี้” ปรากฏในรูปลักษณ์ของ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
...........................................
การหาคำตอบว่าศาสนาคือวิทยาศาสตร์
หรือวิทยาศาสตร์คือศาสนา
มันเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ
เหมือนที่เราบอกว่า
การเกิด คือ การตาย
และการตาย คือ การเกิด
มีความรู้มากมายบนโลกนี้ที่เรารู้เยอะ แต่ไม่ได้รู้อย่างแท้จริง
มีความรู้มากมายที่เราไม่จำเป็นต้องรู้
แต่เราดันไปแสวงหาความรู้นั้น แล้วยึดติดว่าตนรู้
ความรู้ที่แท้ คือ รู้พุทธจิตแห่งตน
รู้ว่าเราเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม และตายแล้วไปไหน
ผมว่าสามคำถามนี้เป็นคำถามที่สำคัญมากสำหรับคนเรา
ไม่ว่าคุณจะนับถือหรือเชื่อมั่นในศาสดาองค์ใดก็ตาม
………………………………………………….
คนที่จะนิพพานได้
ย่อมไม่ได้หมายถึงคนที่รู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้
พระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่คนที่รู้จักทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่ท่านรู้จักตัวท่าน หรือรู้จักจิตของท่าน
รู้ที่จะปล่อยวางในสิ่งที่ท่านรู้
มิใช่รู้เยอะ รู้มาก
นิพพานอันหมายถึงการดับไม่เหลือ
และไม่เวียนว่ายตายเกิด
อยู่เหนือการพันธนาการของกิเลสทั้งปวง
อยู่เหนือการเกิด และการตาย
แปรเปลี่ยนจากการเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง
ไปเป็น “ผู้สร้าง”
“การหยั่งรู้” นี้จึงไม่อาจรู้ได้ด้วยการอ่านหนังสือเป็นล้านๆเล่ม
หรือ การทรมานตัวเองให้เจ็บปวด
ย่อมมิใช่การนั่งสมาธิจนเห็นนิมิตรวุ่นวาย
และย่อมมิใช่การกราบไหว้บูชาเทพเทวดาเพื่อให้ตัวเองเป็นอมตะ
หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำพาตัวเองเข้าสู่สภาวธรรมขั้นสูงสุด
ทางเดียวที่ทำได้และนำเราไปถึงซึ่งทางที่พระพุทธองค์เคยย่ำผ่านมาแล้วก็คือ
“ปล่อยวางในสิ่งที่เรารู้ “ เท่านั้นเอง
…………………………………………………..
ศาสนาเดียวของผม คือ “ธรรมชาติ”
และทางเดียวที่ผมจะไปให้พ้นจากการเกิด และการตายได้
คือ การเข้าสู่สภาวะเดียวกันกับ “ธรรมชาติ”
ด้วยวิธีใด ? ......
ด้วยการรู้ให้ได้ว่า “สัจธรรมสูงสุดคืออะไร ?”....
สิ่งนี้มิใช่การพิสูจน์ความเชื่อ
สิ่งนี้มิใช่การออกเดินทางค้นหาคำตอบในสถานที่ต่างๆ
เพราะ “คำตอบ” อยู่ในกายเรา
และเราต้องหาให้พบด้วยวิธีของเรา ด้วยความเชื่อของเรา
และด้วยตัวตนทั้งหมดของเรา
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่