:: ก๋าราณีตอบคำถามพี่ตุ๊ก ::
เชื่อเหมือนกันค่ะว่าชาติภพมีจริง…..
คราวนี้ถึงตาพี่ตั้งคำถามบ้างล่ะนะ
คือ เบื่อแล้วค่ะสำหรับการเกิดมามีชีวิต
ถ้าหากไม่อยากเกิดมาในชาติหน้าอีก
กิจว่าพี่ควรจะทำอย่างไรดี
ในความคิดพี่ มีความเชื่อว่าเราทุกคนเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม
แต่จะทำอย่างไรกรรมมันถึงจะหมดไปในชาตินี้
และไม่ต้องเกิดมาชดใช้ในชาติหน้าคะ
ส่วนใหญ่จะเคยได้ยินมาว่า ต้องทำบุญให้เยอะ ๆในชาตินี้
แต่เราจะรู้ได้ไงว่าต้องทำบุญขนาดไหนถึงจะเพียงพอที่จะล้างหนี้กรรมทั้งหมด
อาจจะยากสักหน่อยนะคะเพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต
และอาจจะตอบออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่ได้
เอาเป็นว่าไม่ซีเรียสมากละกัน ตอบตามวิธีและตามความคิดของกิจนะ
คำถามโดย : เราสองคน (ฝากเธอ )
********************************
สวัสดีครับพี่ตุ๊ก
คำถามนี้ตอบให้ละเอียดได้ยากมากนะครับ
เหมือนการถามว่าเมื่อเราปรบมือจนเกิดเสียงดัง
เสียงจากมือข้างขวาหรือข้างซ้ายที่ดังกว่ากัน
ผมขอตอบตามความเข้าใจของผม
ท่านใดที่ศึกษาทางธรรมมามากกว่า
กรุณาช่วยกันเสริมในส่วนที่ผมไม่รู้หรือรู้ไม่จริงด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ
......................................
คำถามคือ
1. ไม่อยากกลับมาเกิดอีกแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
2. ทำอย่างไรให้กรรมหมดในชาตินี้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาชดใช้กรรมต่อในชาติหน้า
3. ต้องทำบุญมากขนาดไหน จึงจะล้างหนี้กรรมได้หมด ?
...........................................
เราอาจต้องย้อนคำถามไปยังจุดเริ่มต้นว่าคนเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
คนเราเกิดขึ้นมาจากการสร้างของ “ธรรมชาติ”
ธรรมชาติซึ่งเราสามารถเรียกขานนามตามความเข้าใจได้
ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า ความว่าง สุญตาภาวะ โลกุตระธรรม
ธรรมชาติ พระผู้สร้าง ฯลฯ
โลกเกิดขึ้นมาพร้อมการซ้อนทับของโลก 2 โลก คือ
1. โลกุตระ
2. โลกธรรม
ผมได้เคยอธิบายไปแล้วว่า
โลกุตระสร้างโลกธรรม
หมายความว่าธรรมชาติเป็นคนรังสรรค์สิ่งต่างๆขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของทุกอย่าง
แต่เมื่อเราถามกลับว่าแล้วใครเป็นคนสร้าง “โลกุตระ” ขึ้นมา
คำตอบคือ ไม่มี
โลกุตระเป็นสภาวะ “พลังงาน”
พลังงานอันไร้รูปลักษณ์ อยู่เหนือกาลเวลา
อยู่เหนือเหตุเหนือผล
อยู่เหนือการหยั่งถึงของจินตนาการของมนุษย์
“โลกุตระ” เกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้
จะแตกดับเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ
สร้างอะไรมาแล้วมากมายเพียงใดไม่มีใครรู้
และจะสร้างอะไรต่อไปอีกมากเพียงใดไม่มีใครทราบ
แต่ “โลกุตระ” มีพลังงานบางอย่างที่สร้าง
แล้วทำให้สิ่งต่างๆอยู่ร่วมกันได้
เช่น ทำให้ดวงดาวโคจรโดยไม่พุ่งชนกัน
สร้างคนและสัตว์ให้มีลักษณะจำเพาะ แบบที่เราไม่อาจหาคำตอบได้
ว่าทำไมเราถึงต้องมีตา หู จมูก ปาก หรือโครงสร้างร่างกายแบบนี้
การมุ่งค้นหาคำตอบว่า
“เราเกิดมาได้อย่างไร ?”
“ดวงดาวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?”
“โลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?”
เป็นเพียงคำตอบที่มุ่งหา “ข้อเท็จจริง” ในห้วงขณะเวลาหนึ่ง....
ปัญหาก็คือ สติปัญญาของมนุษย์สามารถค้นหาคำตอบที่ตัวเองเชื่อถือได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง
เมื่อเวลาผ่านไป มนุษย์ขี้สงสัยจึงต้องหาข้อสันนิฐานใหม่
เพื่อมาหักล้างความเชื่อเดิมของตัวเอง
ทางหนึ่งมันทำให้เราวิวัฒนาการทางความคิด
แต่ทางหนึ่งมันทำให้เรายึดติดกับความเชื่อและความคิดที่เราสมมติขึ้น
จนหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้ว
คำถามสำคัญที่สุดคำถามหนึ่งที่เราต้องถามตัวเองให้ได้ นั่นคือคำถามที่ว่า
“เราเกิดมาทำไม ?”
ไม่ใช่การมัวแต่เสียเวลาชีวิตค้นหาคำตอบว่าเราเกิดมาอย่างไร ?
..............................................
การทำความเข้าใจในเรื่องของการเกิด - ดับ
โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
จำต้องอาศัย “ความเชื่อ” และ “ศรัทธาอย่างยิ่งยวด”
ว่า การเกิดและดับของทุกสิ่งบนโลกนี้
ล้วนอยู่ภายใต้การสร้างและทำของ “โลกุตระ” ทั้งสิ้น
“โลกุตระ” สร้าง “โลกธรรม”
โลกธรรม คือ ความเป็นไปแห่งห้วงทุกข์
โลก หรือ โลกะ แปลว่าห้วงทุกข์
หมายความว่า เราเกิดมาพร้อมความทุกข์
ทุกข์จากอะไร ?
ทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และพลัดพรากไปจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก
ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ครั้ง กลับมาเกิดใหม่อีกกี่หน
ไม่ว่าจะเกิดเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ
เราล้วนต้องเผชิญหน้ากับความจริงข้อนี้อย่างหลักเลี่ยงไม่พ้น
ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เป็นทหาร ตำรวจ เป็นเศรษฐี เป็นยาจก
เราต้องเกิดขึ้นมาพร้อมกับความทุกข์อันใหญ่หลวงนี้แน่นอน
ทุกข์จากการตายของพ่อแม่
ทุกข์จากการเกิดมาร่างกายพิกลพิการและเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย
ทุกข์ทางใจเช่น อกหัก ตกงาน ไม่สมหวัง ผิดหวัง ชิงชัง อิจฉา ริษยา ฯลฯ
ทุกข์จากโลกธรรม 8 ที่เราไม่อาจควบคุมได้
มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข และมีทุกข์
.................................................
คำถามคือ เราเห็นถูก เห็นชอบ
......เชื่อและศรัทธาหรือไม่ว่า
เราคือผู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากโลกุตระ
เราคือโลกธรรมที่ต้องอยู่ในห้วงทุกข์ตราบจนสิ้นอายุขัยของเรา
เมื่อเราเห็นความจริงข้อนี้ได้อย่างถูกต้อง
มันจะนำเราไปสู่การใช้ชีวิตอย่างเหนือเวรกรรม
เหนือการเกิด และเหนือความตาย
คำถามที่น่าสนใจคือ การเกิดของเราในทุกชาติภพ
จะพ่วงพามาด้วย “อุปนิสัย” บางอย่างที่ติดตัวมาพร้อมการเกิด
ถามว่าการเกิดของเราเกิดขึ้นจากอะไร ?
ทางหนึ่งเกิดจากการสร้างของ “โลกุตระ”
สร้างอย่างไร ? ...
สร้างจากการนำธาตุต่างๆมาประกอบกันจนแสดงผลออกมาเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ
เช่น หมู หมา กา ไก่ คน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ
มีสิ่งหนึ่งที่โลกุตระได้สร้างให้เราไว้ นั่นคือ “จิต” หรือ “ความคิด” ของตัวเรา
“จิต” ของเราเป็นพลังงานตัวเดียวกันกับ “พลังงานความว่างของโลกุตระ”
มันทำงานในแบบเดียวกัน นั่นคือ เมื่อว่างและไม่ยึดติดในตัวตน
มันจะมีพลัง มีปัญญา มีความรู้แจ้ง ถึงซึ่งความบริสุทธิ์
เคยสังเกตหมาแมวมั้ยครับ
ทำไมหมาออกมาจากท้องแม่จึงเห่าเป็นโดยไม่ต้องมีใครสอน
ทำไมเวลาสัตว์ไม่สบายมันจึงเดินไปกินใบไม้ใบหญ้าและเยียวยาตัวเองได้
ทำไมสัตว์ถึงคลอดลูกเองได้ โดยไม่ต้องมีแพทย์ผดุงครรภ์
ทำไมนกจึงบินได้
ทำไมปลาจึงว่ายน้ำได้โดยไม่ต้องมีใครสอน ฯลฯ
พุทธจิตหรือการหยั่งรู้แบบนี้ผมเรียกว่า “ปัญญา”
“ปัญญา” ซึ่งอาจเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “วิชชา”
“วิชชา” ซึ่งแปลว่า การหยั่งรู้และตระหนักถึงความเป็นที่สุดของความรู้
รู้ว่าทุกข์คืออะไร อะไรคือต้นเหตุแห่งทุกข์ จะดับทุกข์ได้อย่างไร
และจะอยู่เหนือความทุกข์ได้อย่างไร
แต่ “วิชา” หมายถึงความรู้ทั่วไป เช่น รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนชาติใด
ท่านสอนอะไรไว้ โลกนี้มีกี่ประเทศ
แก้โจทย์คณิตศาสตร์ได้อย่างไร
ภาษามีกี่ภาษาและแตกต่างกันอย่างไร ฯลฯ
วิชา – เรียนเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีความรู้
แต่ วิชชา - เรียนเพื่อให้ถ่องแท้กับชีวิต
................................................
“จิต” ของเราทำงานตลอดเวลา
แม้ในยามเราตื่น เรานอน หรือแม้กระทั่งเมื่อยามเราตาย
การเกิด-ดับของเราทางกาย เราอาจตายจากโลกนี้ไป
แต่ “จิต” ของเราไม่ได้แตกดับไปด้วย
มันเพียงเปลี่ยนรูปกลายเป็นพลังงาน
และรอ....รอจน “จิต” นี้ทำงาน ประกอบขึ้นใหม่จากธาตุ
จากสิ่งแวดล้อม เหตุ และปัจจัย
ที่สำคัญ คือ มันจะนำเอาความเคยชินของเรามาด้วย
นั่นคือ “กรรม” หรือ “การกระทำ” ของเรานั่นเอง
.........................................
กรรม --- เจ้ากรรมนายเวร --- ชาติภพ เกิดขึ้นมาจากอะไร ?
เกิดมาจาก “จิต” ส่วนหนึ่ง
และเกิดจากการสร้างของ “โลกุตระ” อีกส่วนหนึ่งที่ทับซ้อนกันอยู่
กรรม หรือ การกระทำ เกิดจากการคิดซ้ำๆนำไปสู่การพูด
พูดซ้ำๆนำไปสู่การกระทำ
กระทำซ้ำๆนำไปสู่ความเคยชิน
ความเคยชินซ้ำๆนำไปสู่ชะตากรรม
ชะตากรรม คือ กรรม หรือสิ่งที่เรากระทำด้วยความเคยชิน
สังเกตดูคนที่จิตใจโหดร้าย หรือเอาเปรียบคน เห็นแก่ตัว
จะแสดงออกมาตั้งแต่ยังเด็ก
บางคนถนัดซ้าย บางคนเกลียดหมา บางคนกลัวที่สูง
บางคนโหดเหี้ยม บางคนสนใจธรรมะ บางคนหมกมุ่นในเรื่องเพศ
บางคนเรียนเก่ง บางคนทำงานเก่ง บางคนมนุษย์สัมพันธ์ดีเลิศ
บางคนเก่งกาจการค้า ฯลฯ
แน่นอน....ทางหนึ่งการเลี้ยงดู การสั่งสอนอบรม การจัดสภาพแวดล้อม
เป็นตัวแปรที่ทำให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นเบ้าหลอมแบบนี้
แต่เราไม่สงสัยเลยหรือว่าทำไมเราถึงถนัดซ้าย-ขวา
ทำไมบางคนทำอะไรก็ผิดหวังตลอดชีวิต
บางคนเกิดมาพิกลพิการ บางคนเกิดมาโง่ บางคนฉลาด
บางคนทั้งชีวิตมีแต่ปัญหา บางคนต้องเผชิญกับโรคร้ายตั้งแต่เกิดจนตาย
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราถูกสร้างมาแบบใด
ปัญหาคือเราเข้าใจ “การเกิด” และ “หน้าที่” ของเราหรือไม่ ?
คำถามที่ว่า “คนเราเกิดมาทำไม ?”
จึงไม่ได้หมายความว่าให้เราเกิดมาเพื่อหายใจทิ้งและใช้ชีวิตไปวันๆ
หากแต่การเกิดเป็นมนุษย์ก็เพื่อที่จะได้มีโอกาสใช้การพูด การเขียน การสื่อสาร
เพื่อทำให้เราได้เป็นตัวแทนของ “โลกุตระ” ในการทำ
และสร้างสิ่งต่างๆขึ้นบนโลกนี้ในแง่บวก มีประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์
เหมือนกับที่ธรรมชาติสร้างสิ่งต่างๆให้เรา
สร้างอากาศ สร้างน้ำ สร้างตะวัน ให้เรา
โดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดตอบแทน
การที่เรามีสมองอันชาญฉลาดก็เพื่อให้เรามีโอกาสเข้าถึง “ความจริงสูงสุด” แห่งจิตของตน
............................................
“เจ้ากรรมนายเวร” ที่แท้จริงนั้น
คือ “จิต” หรือ “วิธีคิด” ของเรานั่นเอง
คิดดี ทำดี พูดดี นำไปสู่หนทางแห่งสันติสุขในเรือนใจ
คิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว นำไปสู่ความหมองมัวของชีวิต
การทำบุญ จึงไม่ได้เป็นการแก้กรรม
หรือเยียวยาสิ่งที่เราได้เคยทำไว้ในอดีต
หากแต่เป็นเพียงกุศโลบายในการทำให้เรารู้จัก “ให้” และแบ่งปัน
ให้เราเรียนรู้ที่จะกระทำตัวเหมือน “ธรรมชาติ” นั่นคือ
ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
พระอาทิตย์ไม่เคยเลือกว่า นี่คนชั่ว ฉันจึงไม่ส่องแสงให้
ลมไม่เคยบอกว่าเพราะเธอจน ฉันจึงไม่แบ่งปันสายลมให้แก่เธอ
ธรรมชาติมีแต่ความเท่าเทียมและความเสมอภาค
มอบให้กับทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้
คำถามว่าต้องทำบุญมากมายเพียงใด
จึงจะล้างหนี้กรรมได้หมด
ตราบใดที่เรายังไม่รู้ความเท่าเทียมกันของสรรพชีวิต
ไม่รู้ในความจริงที่ว่าคน สัตว์ สิ่งของที่โลกุตระสร้างขึ้น
ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงแท้และคงทนอยู่ได้โดยไม่เสื่อมหรือแตกดับ
ตราบนั้นเรายังคงต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏแห่งการเกิด-ตายมิสุดสิ้น
เจ้ากรรมนายเวรเกิดจากความคิด คำพูด และการกระทำของเรา
จะดับเจ้ากรรมนายเวรก็ต้องเริ่มที่ “จิต” ของเราเอง
ย้อนมองส่องตนว่าคุณธรรมข้อใดในใจของเรา
ที่ทำให้เราคิดเสื่อม คิดเลว พูดเสื่อม พูดเลว
ทำแต่สิ่งเสื่อมทรามและทำแต่สิ่งที่เป็นความเลว
ลด ละ เลิก .....
ปล่อยวางสิ่งที่เราคิดว่าเป็นของเรา
เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเราแม้กระทั่งชื่อ ตัวตน ทรัพย์สิน
ครอบครัว ในวันที่เราต้องจากโลกนี้ไป ฯลฯ
สิ่งที่เรามีเพียงอย่างเดียว คือ “จิต” ของเรา
จิตที่ไปทางดีก็ได้ ไปทางชั่วก็ได้
จะเกิดอีกกี่รอบก็ได้ หรือไม่เกิดเลยก็ได้
คำถามนี้มิได้ทำให้เราปล่อยวางและเพิกเฉยกับการใช้ชีวิต
นั่นเป็นเพียงความคิดของคนที่โง่งมสุดโต่ง
การคิดปล่อยวางตัวตน หมายถึงการที่เรารู้ว่า
ร่างนี้ที่เรายึดครองอยู่ ถึงเวลามันก็ดับไป ต้องคืนเขาไป
เพราะฉะนั้นเราจะใช้ร่างนี้เพื่อทำแต่สิ่งดี พูดแต่สิ่งดี คิดแต่สิ่งดี
ใช้ชีวิตไปในทางที่สร้างสรรค์และทำประโยชน์กับผู้อื่นให้มากที่สุด
ก่อนถึงช่วงเวลาเสื่อมและแตกดับของสังขารนี้
.............................................
กรรมของเรา เปรียบเสมือนกระแสไฟฟ้า
มันไม่มีรูปร่าง แต่มีพลังงาน
เข้าหลอดไฟ หลอดไฟทำงานให้แสงสว่าง
เข้าพัดลม ให้ลมเย็นชื่นใจ
เข้าที่เป่าผม ให้ลมร้อนระอุ ฯลฯ
ถามว่าเราจำเป็นต้องสนใจไหมว่าหลังจากดับสวิทช์ไฟแล้ว
ไฟฟ้าจะไปที่ใดต่อ
แม้กระทั่งตัววัตถุเองก็มีระยะเวลาการใช้งานของมัน
1 ปีเสีย 10 ปีพัง
ร่างกายเราเองก็เช่นกัน เกิดเป็นคนอยู่ได้ 80 ปี
เกิดเป็นยุง อยู่ได้ 1 อาทิตย์ ฯลฯ
เพราะฉะนั้นเราเองไม่จำเป็นต้องสนใจเลยว่าเราจะเป็นกระแสไฟฟ้าที่ไปเข้าอะไร และจะอยู่ได้นานแค่ไหน
เราแค่ใช้ชีวิต และทำให้ดีที่สุดขณะที่เวลาของเรายังมี
..............................................
“บุญสูงสุด คือ รู้พุทธจิตแห่งตน”
พุทธจิต คืออะไร ?
คือ จิตซึ่งตื่นรู้ในความเป็นจริงแห่งชีวิต
รู้ว่าคนเราเกิดมาล้วนเท่าเทียมกัน เป็นเพื่อนร่วมเกิด ร่วมเจ็บ ร่วมตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน
ใช้ชีวิตจบ ก็ส่งคืนธรรมชาติ
รู้ว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อเผชิญความทุกข์
แต่หากเรามีปัญญา เราจะสามารถเผชิญความทุกข์อย่างรู้เท่าทัน
กายนี้ คือ บททดสอบที่ให้เราได้เรียนรู้ความจริงของชีวิต
สอบเสร็จก็ตายและส่งคืนธรรมชาติ
หากคิดกลับมาเกิดอีก ก็ต้องเจอความทุกข์แบบเดิมซ้ำๆไปตลอดจนสิ้นวงจรชีวิต
เปรียบเหมือนกระแสไฟที่เข้าออกสู่พัดลม ทีวี แอร์ เครื่องจักร
ฯลฯ
หมดอายุขัยก็ออกจากร่างนั้น เข้าสู่ร่างนี้
หมนุวนเปลี่ยนไปไม่สุดสิ้น
ตราบใดที่เรายังยึดติดอยู่กับการเกิด-ตาย และการพยายามรักษาร่างสังขารนี้ไว้
.........................................
ทำอย่างไรให้หมดกรรมที่ได้เคยทำมา ?
เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นคนที่โกรธร้าย โมโหเร็ว
สิ่งที่เราควรทำคือ การฝึกสติ
ให้รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง
รู้ทันความโกรธของตัวเอง
อยากแก้กรรมที่เกิดจากการคิดร้ายต่อคนอื่น
ต้องแก้ไขวิธีคิดของตัวเองให้รู้จักเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ลดความเห็นแก่ตัว ลดความเคียดแค้นพยาบาทในใจลง
เพราะเมื่อทั้งเราและเขาล้วนไม่แตกต่าง ยังจะทำร้ายกันไปทำไม
อยากแก้กรรมที่ชีวิตรักไม่สมหวัง
ให้ไปย้อนมองส่องตนว่าเราคิดและปฏิบัติตนอย่างไร
ถึงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันคนอื่นได้
เราเจ้าอารมณ์ ไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นด้วยหรือเปล่า
หรือว่าเราคาดหวังและเรียกร้องในตัวของคนรักมากเกินไป
ฯลฯ
ทุกผลกรรม ล้วนเกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา
ทุกเรื่องราวในชีวิตของเรา
ล้วนเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัยประกอบกัน
เหตุเปลี่ยน ผลก็เปลี่ยน
เวลาเปลี่ยน เหตุหรือปัจจัยก็เปลี่ยน
ผลย่อมเปลี่ยนไป
เมื่อรู้ทันเหตุ ปัจจัย ผลและระยะเวลา
เราสามารถเข้าใจสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์
ทุกข์อยู่ตรงไหน
...ดับตรงนั้น
เจ้ากรรมนายเวรเกิดขึ้นที่ความคิด
ต้องดับที่ความคิด
ดับด้วยปัญญา ดับที่สาเหตุ ดับที่ต้นเหตุ
และระวังไม่ให้เหตุนั้นกลับมาสร้างปัญหาขึ้นอีกครั้ง
.......................................
กรรมเหมือนลูกบอลที่เราปาเข้าไปที่ข้างผนัง
ยิ่งปาแรง มันยิ่งกระเด้งกลับมาแรง
อยากอยู่เหนือพ้นจากกรรมเวร
เราต้องไปให้พ้นจากการเกิด การตาย
ไม่มีทั้งลูกบอล
ไม่มีทั้งผนัง
ไม่มีสิ่งใด
ไม่อยากกลับมาเกิดอีกแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
นิพพานคืออะไร ?
นิพพานคือ ชุ่มเย็น
ชุ่มเย็นจากอะไร ?
จากการอยู่เหนือ การเกิด การเจ็บ และการตาย
เราจะพ้นไปจากการเกิด การเจ็บ การตายได้อย่างไร ?
ด้วยการเข้าถึงความจริงแห่งสัจธรรมสูงสุด
คือ พาจิตตนไปสู่สภาวะแห่งความเป็น “โลกุตระ”
เมื่อจิตของเราเปลี่ยนสถานะจากการเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง
ไปเป็น “ผู้สร้าง”
ไปจนพ้นจากการมีตัวตนให้ยึดติด
อย่างนี้แล้ว.....
กรรมเวร จะเข้าเกาะกุมที่ใด
เปรียบเสมือน “จิต” เราคือดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงเจิดจ้า
ทุกคนและทุกสรรพสิ่งล้วนมี “แสง” นี้ส่องประกายเจิดจ้าในกายทุกคน
หากแต่เรานำเมฆดำหรือกิเลสและการยึดติดทั้งหลายเข้าเกาะกุม
จนดวงแสงนี้ไม่อาจเปล่งแสงสว่างออกมาได้
สิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่การออกค้นหาแสงสว่างมาเพิ่ม
แต่เราเพียงแค่นำเมฆหรือผ้าทึบที่บดบังดวงแสงของเราอยู่ออกไป
เท่านี้ดวงจิตก็สามารถทำงานได้เต็มที่
และมีสถานะเดียวกันกับ พระเจ้า หรือ โลกุตระนั่นเอง
......................................
การไปให้พ้นจากวัฏสรสาร คือ การที่เราต้องฝึกกับกายนี้
ให้รู้ว่ากายที่เราอาศัยอยู่เป็นเพียงสิ่งสมมติ
ใช้เสร็จ หมดเวลาก็คืนกลับไปที่ธรรมชาติแห่งจิตเดิมแท้
และเมื่อเราปล่อยวางจิตของเราให้เป็นอิสระ
และไม่ถูกร้อยรัดไปด้วยกิเลสหรือการยึดติดทั้งปวง
จิตนี้จะเป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง
จิตนี้จะเปี่ยมไปด้วยปัญญา
จิตนี้จะเปี่ยมไปด้วยความบริสุทธิ์
และจิตนี้จะเปี่ยมไปด้วยพลังอันประมาณค่ามิได้
จากจิตซึ่งเป็นผู้ถูกสร้างขึ้นในโลกธรรม
จะกลับกลายเป็นจิตที่เป็นผู้สร้างหรือมีสภาพเป็นโลกุตรธรรมนั่นเอง
........................................
ผมคิดว่าเราไปถึงสภาวะแห่ง “นิพพาน” ได้ทุกคน
เมื่อเราปล่อยวางสิ่งที่เรารู้ทั้งหมด
เปรียบตัวเราเหมือนแก้วน้ำหนึ่งใบ
ตักน้ำขุ่นข้นเอาไว้ในแก้ว
เราจำเป็นต้องรอจนตะกอนขุ่นข้นค่อยทิ้งตัวลง
ด้วยสติ สมาธิ และศีล
เราจะรู้ได้ว่าสิ่งใดคือน้ำดี สิ่งใดคือน้ำโคลน
และด้วยการเจริญสติวิปัสสนา
เราจะแยกโคลนออกจากน้ำนั้น
ให้เหลือเพียงน้ำใสสะอาดในแก้ว
แต่สุดท้ายแล้ว
ต้องไร้แก้ว
ไร้น้ำ
และไร้ตัวตน
ดั่งนี้แล้ว...เราจึงเข้าสู่สภาวะแห่งการนิพพานอย่างไร้การยึดติดในตัวตน
...............................................
ผมยังยืนยันว่าผมศึกษาน้อยและไม่ได้แตกฉานทางธรรม
สิ่งที่ผมเขียน ผมเขียนตามสิ่งที่ผมเชื่อ
ผมเชื่อในสิ่งที่เคยเปลี่ยนแปลงตัวผมมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน
ธรรมไม่ใช่ตัวอักษรเปื้อนหมึก
หากแต่เป็นความจริงที่ต้องขีดเขียนลงไปในหัวใจ
ธรรมะไม่ใช่การท่องจำ
หากแต่คือการปฏิบัติด้วยวิธีที่เรียบง่ายและไร้พิธีกรรมอันรุงรังหลอกลวง
ธรรมะอาจเรียบง่ายแบบหิวก็กิน ง่วงก็นอน
ทำงานด้วยสติ
และมีความสุขกับการรู้เท่าทันความทุกข์ในชีวิต
กล่องความคิดเห็น
การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่