บทความทั่วไป

:: อารามใจ ::

กะว่าก๋า

:: อารามใจ ::



กลอนโดย : ลุงแว่น
บทรำพึงและภาพโดย : กะว่าก๋า





















มองอาราม อร่ามทอง เรืองรองเลื่อม
ดังเขตเหลื่อม เชื่อมกลาง ทางสวรรค์
ช่อฟ้าชี้ สู่ทิศฟ้า พาชีวัน
ศรัทธากลั่น พลันสงบ เพื่อภพไกล





สูงใหญ่กว้าง อย่างอาราม ชวนขามคิด
เล็กจิดริด ข่มตัวตน จำนนได้
สยบยอบ นอบประณต จนหมดใจ
ทองวิบไหว โน้มใจแผ้ว แนวทางธรรม





พุทธรูป สถูปใหญ่ จูงใจน้อม
ก่อแวดล้อม ส่งแรงยุด หยุดถลำ
ละอบาย เว้นทางหยาบ เลิกบาปกรรม
มุ่งแนวนำ ทำทางบุญ เกื้อหนุนตน






อารามทอง กลางใจ ใครคิดสร้าง
เป็นหลักวาง มุ่งทางหลัก สู่มรรคผล
มัวหลงสร้าง อารามใหญ่ ใช้บานบน
อารามใจ ในจิตตน คนกลับลืม.





























:: บทรำพึง ::





ภาพชุดนี้ผมถ่ายจากวัดปงสนุก จังหวัดลำปาง
วัดทางภาคเหนือตอนบนมีจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์
นั่นคือ วิหารมักมีขนาดเล็กย่อม
ทรงวิหารตะคุ่มๆคล้ายรูปทรงของภูเขา
มีความเรียบง่ายทั้งรูปแบบและโครงสร้างสถาปัตยกรรม
วิหารวัดไหนที่โดดเด่นก็จะขับเน้นกันตรงลวดลายฉลุไม้
หรือลายปูนปั้นตามหน้าบันและเสาประดับต่างๆ


ผมถ่ายรูปวิหารในวัดภาคเหนือมาไม่น้อย
หลงเสน่ห์ในความเรียบง่าย ความสงบ และความ “น้อย”

แต่ในความ “น้อย” กลับ “มาก”
ได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีกรรมที่รกเรื้อรุงรัง
ไม่มีต้องโบสถ์วิหารหมื่นล้าน
ไม่ต้องมีเจดีย์พันล้านที่ประดับประดาไปด้วยแก้วแหวนและอัญมณีล้ำค่า

ยิ่ง “น้อย” มากเท่าไหร่
กลับคล้ายว่ายิ่ง “ลึกล้ำมหาศาล”



หลายวันก่อนนั่งคุยกับหลานสาว
เธอเป็นว่าที่จิตแพทย์และกำลังเดินทางไปฝึกอบรม
การรักษาคนไข้ในแนวพุทธ
หลักสูตรที่เขียนขึ้นโดยนายแพทย์ชาวตะวันตก

ช่วงนี้กระแส “แนวพุทธ” มาแรง
ทั้งการแพทย์หรือแม้แต่แวดวงการศึกษา
ก็อิงกระแสแนวพุทธกันมิใช่น้อย

ผมถามเธอว่า

“แนวพุทธในความเข้าใจของเธอคืออะไร ?”

และนั่นเป็นสิ่งที่เธอเองก็อยากรู้....


เราเป็นชาวพุทธ
แต่หลายคนก็เป็นพุทธตามความเคยชิน
เราผ่านการเข้ารับเป็นพุทธมามกะ
แต่กระนั้นแม้แต่ศีลห้าข้อ บางคนยังจำไม่ได้
เรามีศีล 227 ข้อ แต่น้อยคนนักที่รักษามันไว้ได้อย่างครบถ้วน


การเป็นชาวพุทธแต่ในนาม
ไม่ได้ทำให้เราผ่าน “ทุกข์” ที่เกิดขึ้นในชีวิตไปได้เลย



วิชาพุทธศาสนาของเราจึงเน้นสอนเพียงแต่พุทธประวัติ
วันสำคัญทางศาสนา และ ข้อจดจำมากมายทางศีลธรรม
ที่เราพร้อมจะจำเพื่อสอบและลืมมันไปอย่างง่ายดาย



เราตั้งคำถามในข้อสอบว่า

“วันวิสาขบูชามีความสำคัญทางศาสนาอย่างไร ?”



ในขณะที่ชาวตะวันตกผู้สนใจปรัชญาในศาสนาพุทธ
เริ่มต้นคำถามของเขาว่า

“แก่นคำสอนที่แท้จริงของศาสนาพุทธคืออะไร ?”




เราเฝ้าบูชากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
อ้อนวอนไหว้และร้องขอสิ่งต่างๆ

เราชอบเครื่องรางของขลัง
เราอยากฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชื่อดังที่มีคาถาอาคมเก่งกล้า
เราอยากไปปฏิบัติธรรมยังวัดต่างๆที่มีชื่อเสียง

เราแสวงหา “หนทางธรรม” ไปทุกทิศทั่วทาง
ทั้งๆที่ “วิหารที่แท้จริง” นั้นอยู่ใน “ตัวเรา”



ธรรมะ คือ ธรรมชาติ
ธรรมชาติแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป
ธรรมชาติแห่งโลกธรรมทั้ง 8
ธรรมชาติแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
พลัดพรากจากสิ่งและผู้คนที่ตนรัก

ทุกสิ่งเริ่มต้นที่ “ตัวเรา”
และจบลงที่ “ตัวเรา”

แต่เราไม่เคยสนใจครูทางธรรมที่แท้จริงภายในตัวเราเลย...





อารามทอง กลางใจ ใครคิดสร้าง
เป็นหลักวาง มุ่งทางหลัก สู่มรรคผล
มัวหลงสร้าง อารามใหญ่ ใช้บานบน
อารามใจ ในจิตตน คนกลับลืม.







วันนี้...นอกจากเราจะลืมไปแล้ว
ว่า “วิหารที่แท้จริง” นั้นอยู่ที่ไหน ?
เรายังมุ่งแสวงหา “ขุมทรัพย์” ซึ่งอยู่นอกตัว
แต่ยิ่งหา ยิ่งหาย
ยิ่งค้น ยิ่งไม่เจอ



ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า


“ชีวิตคือการค้นพบ
ไม่ใช่การค้นหา”


แน่นอน...ผมอยากเขียนประโยคนี้เอาไว้เช่นกันว่า


“ธรรมะที่แท้ คือ การค้นพบ
ไม่ใช่การค้นหา
และถ้าเธอจะค้นพบมันได้
ก็ต้องค้นพบในตัวเธอเอง”








 

 

 

กล่องความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นเปิดสำหรับสมาชิกเท่านั้น
ลงชื่อเข้าระบบสมาชิก หรือ สมัครสมาชิกใหม่